(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าคาดปี 52GDP -2.8%ถึง0.8%จากศก.ชะลอ-การเมือง-สภาพคล่องการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 5, 2009 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยปี 52 จะอยู่ในกรอบ -2.8% ถึง 0.8% โดยกรณีที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุด คือ GDP ปี 52 จะอยู่ที่ระดับ -1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินตึงตัว และราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง

"เรามองว่าเศรษฐกิจปีนี้คงจะติดลบ ซึ่งเป็นโอกาสที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดจากเศรษฐกิจโลกที่ทรุดตัวอย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจเป็นบวกได้ถ้ารัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินและมีการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการเมกะโปรเจ็คต์ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มีความเป็นไปได้(ที่จีดีพีจะเป็นบวก)แค่ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ การที่รัฐบาลใช้นโยบายการคลังและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณอีก 1.2 แสนล้านบาท, การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนภาครัฐ, อัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวในระดับต่ำ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวในระดับต่ำ

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวลงอาจถึงจุดต่ำสุดในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และอาจมีสัญญาณภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นด้วย หลังจากนั้นภาวะเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่าจะทำให้จีดีพีในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ 2-4% และภาวะเงินฝืดหายไปด้วย

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งต่อไปน่าจะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0.5-1% เนื่องอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในช่วงติดลบหรือใกล้เคียง 0% ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น

"ถ้าเงินเฟ้ออยู่ในระดับใกล้เคียงกับศูนย์เปอร์เซ็นต์หรือติดลบอาจทำให้ กนง.พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง กนง.ควรอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบด้วยการลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง และยังช่วยป้องกันภาวะเงินฝืดได้" นายธนวรรธน์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ