นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เผยเตรียมเป็นตัวกลางให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
โดยการพบปะกันของผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่มนี้จะมีขึ้นที่บริษัท อิตัลไทยมารีน จำกัด จ.สมุทรปราการ ในวันที่ 11 ก.พ.นี้
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า หลังจากโครงสร้างของอุตสาหกรรมทั้ง 2 กลุ่มแล้วเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นคาดว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ซึ่งที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างดำเนินการโดยไม่มีการประสานความร่วมมือกัน ทำให้สูญเสียโอกาสบางอย่าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่อเรือที่ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามในส่วนของอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบในเรือ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ ยังพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมที่มีในประเทศอย่างน่าเสียดาย
ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เนื่องจากการปรับตัวลดลงของการส่งออก โดยคาดว่าภาวะการผลิตและจำหน่ายในปี 52 จะลดลงจากปี 51 ถึง 20-30% ขณะที่อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือของไทยยังคงมีการขยายตัวอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 48 มีการต่อเรือใหม่คิดเป็นมูลค่า 6,000 บาท และเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท ในปี 51 เนื่องจากต่างชาติเริ่มให้การยอมรับในฝีมือ และขณะนี้ผู้ประกอบการยังมียอดคำสั่งต่อเรือค้างอีกถึงปี 2553 คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านบาท
"หากสามารถใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้จากผู้ประกอบการในประเทศเอง จะช่วยบรรเทาภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ซบเซาได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นวิกฤติแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายหมื่นอัตรา รวมทั้งถือเป็นแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเชื่อมโยงกันได้" นายอาทิตย์ กล่าว
ทั้งนี้ หากอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ สามารถจับคู่กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้วถือเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นการช่วยบรรเทาวิกฤติแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งผลักดันแนวทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้แก้ไขวิกฤติ ซึ่งขณะนี้ได้ขอรับการจัดสรรงบกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจำนวน 6,900 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น โดยแผนงานนี้จะช่วยรักษาและคงสภาพการจ้างงานได้ประมาณ 60,000-80,000 ราย โดยจะใช้งบประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท