(เพิ่มเติม1) ม.หอการค้าคาดปี52 GDP -2.8%ถึง0.8%จากศก.ชะลอ-การเมือง-สภาพคล่องการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 5, 2009 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยปี 52 จะอยู่ในกรอบ -2.8% ถึง 0.8% โดยกรณีที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุด คือ GDP ปี 52 จะอยู่ที่ระดับ -1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินตึงตัว และราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง

"เรามองว่าเศรษฐกิจปีนี้คงจะติดลบ ซึ่งเป็นโอกาสที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดจากเศรษฐกิจโลกที่ทรุดตัวอย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจเป็นบวกได้ถ้ารัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินและมีการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการเมกะโปรเจ็คต์ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มีความเป็นไปได้(ที่จีดีพีจะเป็นบวก)แค่ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

โดยการคาดการณ์ GDP ที่ระดับ -1% นี้ถือว่าเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี นับจากปี 41 ที่ GDP อยู่ที่ระดับ -10.5%

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ การที่รัฐบาลใช้นโยบายการคลังและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณอีก 1.2 แสนล้านบาท, การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนภาครัฐ, อัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวในระดับต่ำ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวในระดับต่ำ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังคาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในปี 52 จะอยู่ที่ระดับ -5.0 ถึง -7.0% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ -0.1 ถึง -1.1% โดยมีการว่างงานประมาณ 9 แสน-1.2 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.3-3.1% และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเฉลี่ยที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การส่งออกในปีนี้จะยังชะลอตัวลงต่อเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อของต่างประเทศชะลอตัวลงแทบทุกกลุ่ม โดยคาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มจะติดลบในระดับสูงต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 4/51 เนื่องจากสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐทั้งการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ การเจาะตลาดส่งออกใหม่ น่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในไตรมาส 3 ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกในครึ่งปีหลังกลับมาดีขึ้นได้บ้าง

แต่หากดูโดยรวมทั้งปีแล้วเชื่อว่าการส่งออกจะยังอยู่ในระดับ -5.8% คิดเป็นมูลค่า 165,150 ล้านดอลลาร์ การนำเข้า -6.1% คิดเป็นมูลค่า 164,430 ล้านดอลลาร์ คาดว่ามียอดเกินดุลการค้าราว 720 ล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลราว 470 ล้านดอลลาร์

ส่วนแนวโน้มการบริโภคปี 52 คาดว่าจะเติบโต 1.8% ถือเป็นการขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะผลของสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอนสูงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจในการบริโภค ขณะที่การลงทุนในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 1.9% ถือว่าเป็นระดับต่ำเช่นกัน เป็นผลจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งภาวะเศรษฐกิจและการเมืองจึงทำให้มีการชะลอการลงทุนในระยะนี้

ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปี 52 เชื่อว่ายังสามารถปรับลดลงได้อีก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คงต้องใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งต่อไปน่าจะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0.5-1% เนื่องอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในช่วงติดลบหรือใกล้เคียง 0% ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น

"ถ้าเงินเฟ้ออยู่ในระดับใกล้เคียงกับศูนย์เปอร์เซ็นต์หรือติดลบอาจทำให้ กนง.พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 0.75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง กนง.ควรอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบด้วยการลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง และยังช่วยป้องกันภาวะเงินฝืดได้" นายธนวรรธน์ กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวลงอาจถึงจุดต่ำสุดในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และอาจมีสัญญาณภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นด้วย หลังจากนั้นภาวะเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่าจะทำให้จีดีพีในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ 2-4% และภาวะเงินฝืดหายไปด้วย

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการรับมือกับภาวะเงินฝืดที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั้น นายธนวรรธน์ เห็นว่า รัฐบาลควรต้องเร่งกู้เงินจำนวน 2.7 แสนล้านบาท เพื่อมาอัดฉีดสภาพคล่องในระบบและรักษาสภาพคล่องของเงินคงคลัง นอกจากนี้ต้องบริหารจัดการให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ การเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เม็ดเงินลงถึงมือประชาชนได้ตั้งแต่ เม.ย.52 เป็นต้นไป รวมทั้งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเร่งปล่อยสินเชื่อในระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ