ไทยเจรจาให้ญี่ปุ่นกลับมานำเข้าไก่สดอีกครั้งหลังครบกำหนดปลอดเชื้อหวัดนก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 5, 2009 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาสัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ ได้มีโอกาสหารือร่วมกับ รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น(เมติ) เพื่อเจรจาขอให้ญี่ปุ่นกลับมานำเข้าสินค้าไก่สดจากไทยอีกครั้ง หลังจากญี่ปุ่นห้ามการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยเนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกเมื่อหลายปีก่อน

"วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ไทยจะปลอดไข้หวัดนกครบ 90 วันตามกฎระเบียบขององค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(โอไออี) จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่ญี่ปุ่นจะนำเข้าไก่สดจากไทยอีกครั้ง" นางพรทิวา กล่าว

นอกจากนี้ ตนเองยังได้ขอให้ญี่ปุ่นปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าข้าวจากไทย เพราะปัจจุบันเก็บภาษีนำเข้าสูงมาก จนทำให้ราคาข้าวไทยที่ขายในญี่ปุ่นสูงมาก และไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยเฉพาะช่วงที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาทางเศรษฐกิจถดถอยลงในขณะนี้ ซึ่ง รมว.เมติ รับปากจะพิจารณาให้

ขณะเดียวกัน ตนเองยังขอให้เร่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(เจเทปา) ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ญี่ปุ่นจะสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมเหล็ก ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ เป็นต้น แต่จนถึงขณะนี้ความร่วมมือดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่ข้อตกลงมีผลบังคับใช้กว่า 1 ปีมาแล้ว

ส่วนการหารือกับผู้บริหารบริษัท คิโตคุ ชินเรียว ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่จากไทยนั้น รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้ขอให้บริษัทช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการนำเข้าข้าวจากไทยมากขึ้น และจะร่วมมือกับจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และประชาสัมพันธ์ให้ชาวญี่ปุ่นรู้จัก และบริโภคข้าวไทยมากขึ้นด้วย

ขณะที่การหารือกับผู้บริหารกลุ่มเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น และมีสาขาทั่วประเทศกว่า 18,000 แห่ง มีภัตตาคารและฟาสต์ฟูดกว่า 1,000 แห่ง และมีห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ มียอดขายประมาณ 5 ล้านล้านเยนต่อปีนั้น ได้ขอนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ทั้งผัก ผลไม้ รวมถึงซอส และเครื่องปรุงรสต่างๆ ซึ่งบริษัทยินดีให้ความร่วมมือ และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าไทยด้วย

รมว.พาณิชย์ ยังกล่าวถึงผลหารือกับผู้บริหาร 6 บริษัทการค้าระหว่างประเทศ(เทรดดิ้ง เฟิร์ม) รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้แก่ มิตซุย, อิโตชู, มารูเบนนิ, มิตซูบิชิ, ซูจิตซึ และซูมิตโตโม ได้ขอให้ทั้ง 6 รายช่วยขยายฐานการค้า และการลงทุนกับไทยให้มากขึ้น และขอให้ช่วยแจ้งภาคเอกชนญี่ปุ่นใช้สิทธิประโยชน์จากเจเทปามากขึ้นด้วย เพราะญี่ปุ่นใช้ประโยชน์เพียง 5% เท่านั้น โดยนักธุรกิจญี่ปุ่นยังกังวลปัญหาการเมือง และความไม่สงบในไทย ซึ่งได้ชี้แจงและทำความเข้าใจแล้วว่า ขณะนี้สถานการณ์ในไทยเป็นปกติแล้ว และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศด้วย

"แม้ภาคเอกชนญี่ปุ่นยังคงกังวลเรื่องปัญหาการเมืองและสถานการณ์ในไทย โดยไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เพราะจะทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในการลงทุน แต่ก็ยังยืนยันที่จะลงทุนในไทยต่อไป เพราะไทยยังมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ ขณะเดียวกันก็ได้ชี้แจงให้ญี่ปุ่นเข้าใจว่า ขณะนี้รัฐบาลเปลี่ยนขั้ว และมีเสถียรภาพแล้ว อีกทั้งรัฐบาลยังมีนโยบายเชิญชวนการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนญี่ปุ่นได้" นางพรทิวา กล่าว

ด้าน นพ.อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมไก่เนื้อเพื่อการส่งออก กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าแม้จะครบกำหนด 90 วันปลอดเชื้อไข้หวัดนกแล้ว แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่นำเข้าไก่สดจากไทย เพราะที่ผ่านมาไทยเคยปลอดเชื้อกว่า 200 วันญี่ปุ่นก็ยังไม่นำเข้า เพราะต้องการให้เกิดความแน่ใจก่อนว่า จะไม่มีเชื้อจริงๆ เนื่องจากขณะนี้เพื่อนบ้านไทยยังพบเชื้อหวัดนกอยู่ จึงเกรงว่าเชื้อจะกระจายมาไทยได้อีก แต่หากญี่ปุ่นนำเข้าจริงก็จะเพิ่มปริมาณการส่งออกไก่ของไทยได้

"ภายในปีนี้ มองว่า ญี่ปุ่นยังไม่น่านำเข้าจากไทยได้ เพราะยังมีการพบเชื้อหวัดนกอยู่ในประเทศต่างๆ จึงเกรงว่า อาจกระจายมายังไทยได้อีก แต่ผู้ส่งออกเห็นว่า การส่งออกไก่แปรรูปจะดีกว่า เพราะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไทย และมีการส่งออกที่ยั่งยืนมากกว่าการส่งออกไก่สด หากพบเชื้อหวัดนกอีก ประเทศผู้นำเข้าก็จะประกาศห้ามนำเข้าอีก และอาจทำให้ภาพพจน์สินค้าไทยเสียหายได้ ซึ่งปัจจุบัน ไทยส่งออกไก่แปรรูปได้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 400,000 ตัน จากที่ผ่านมาส่งออกได้ประมาณ 100,000 ตันเท่านั้น" นพอนันต์ กล่าว

ขณะที่ นายเรียว คิมูระ ประธานบริษัท คิโตคุ ชินเรียว ผู้นำเข้าข้าวจากไทย กล่าวว่า บริษัทจะขยายตลาดข้าวไทยทั้งส่วนที่เป็นตลาดสำหรับอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการอาหารไทย เช่น ร้านอาหารไทย และในส่วนตลาดผู้บริโภคทั่วไปที่ขายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย อาจทำให้การขายผ่านร้านอาหารไทยลดลงได้ เพราะคนญี่ปุ่นหันมากินข้าวในบ้านมากขึ้น ทำให้การขายผ่านซูเปอร์มาร์เกตน่าจะยังขยายตัวได้ดี และไทยควรปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ข้าวลง เพราะปัจจุบันแพ็กละ 5 กิโลกรัม ราคาถุงละ 2,500 เยน ถือว่าแพงเกินไป หรืออาจทำเป็นข้าวหุงพร้อมรับประทาน โดยปัจจุบันบริษัทนำเข้าข้าวจากไทย 2 ชนิด คือ ข้าวหอมมะลิ 1,200 ตัน และข้าวเหนียว 150 ตัน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ