นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจักการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ในวันที่ 22 ก.พ.ที่ จ.ภูเก็ตร่วมกับประเทศเกาหลีใต้ ในฐานะประธานกลุ่มประเทศชั้นนำในเอเชีย 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้
ที่ประชุมในเวทีดังกล่าวจะมีการแลกเปลี่ยนความเห็น ข้อมูล และข้อเท็จจริงในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศจีนมีการกระตุ้นภาคธุรกิจสถาบันการเงิน และขยายวงเงินสินเชื่อสูงมาก ขณะที่เกาหลีใต้ จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ส่วนไทยก็มีแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจคล้ายกับสิงคโปร์และไต้หวัน
ส่วนหนึ่งของการประชุมจะมีการหารือมาตรการริเริ่มที่เชียงใหม่(Chiang Mai Initiative: CMI) เกี่ยวกับการขยายความร่วมมือความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคี (Bilateral Swap Agreement: BSA)ไปสู่ความตกลงที่มีลักษณะพหุภาคี (CMI Multilateralisation) โดยจะกำหนดจุดยืนและข้อเสนอแนะ ซึ่งในหลักการทุกฝ่ายก็มีความเห็นตรงกันอยู่แล้ว และจเปิดโอกาสให้ทุกประเทศเข้าถึง
นายกรณ์ ยอมรับว่าข้อเสนอที่ให้แต่ประเทศนำทุนสำรองมาจัดตั้งเป็นกองทุนนั้น คงยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้เนื่องจากหลายประเทศยังไม่มีความพร้อม โดยแนวทางดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศขนาดใหญ่ ในส่วนของประเทศไทยเองมีความพร้อมในด้านเงินทุนสำรองที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มีปัญหาที่ศักยภาพของบางประเทศที่ยังมีข้อจำกัด
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า การประชุมดังกล่าวถือเป็นความจำเป็นของประเทศเอเชียที่จะต้องร่วมมือกัน และจะนำผลการหารือในครั้งนี้ไปต่อยอดในการประชุมอาเซียนซัมมิทที่กำลังจะมีขึ้นต่อไประหว่างวันที่ 27 ก.พ. - 1 มี.ค. ขณะเดียวกันก็คาดหวังให้ประเทศ +3 นำแนวคิดของกลุ่มอาเซียนไปหารือเพื่อขยายผลในการประชุม G-20 ด้วย