นักวิชาการแนะรัฐแก้กม.งบประมาณ-หนี้สาธารณะ ชดเชยรายได้ส่งออกวูบหนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 6, 2009 19:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการแนะรัฐบาลแก้ไขกม.งบประมาณและหนี้สาธารณะชั่วคราวเพื่อก่อหนี้ได้เพิ่มจากกรอบที่กำหนดและควรเพิ่มงบกลางปี เพื่อให้มีงบประมาณอย่างเพียงพอต่อการนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจและชดเชยการส่งออกไทยจะหดตัวอย่างรุนแรง ขณะที่ประเมินจีดีพีของไทยปีนี้จะอยู่ที่ 0-1% และภาวะเศรษฐกิจโลกจะต่ำสุดในไตรมาส 4/52 ส่วนสภาพคล่องในประเทศไม่ได้เลวร้ายเพียงแต่เกิดจากความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นรัฐควรยื่นมือมาช่วยค้ำประกันเงินกู้

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)เปิดเผยหลังงานสัมมนาเรื่อง“เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง"ว่า รัฐบาลควรแก้ไข พ.ร.บ.งบประมาณ และหนี้สาธารณะ ในระยะสั้นหรือ 1 ปี เพื่อแก้ปัญหารัฐบาลในภาวะถังแตก และยังเป็นการช่วยฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากยอดการส่งออกที่ลดลง ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้จะหายไป 5-6 แสนล้านบาท ทำให้เงินที่ภาครัฐที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ รัฐควรที่จะดำเนินการล่วงหน้าก่อนสิ้นปีงบประมาณนี้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดเพดานการขาดดุลงบประมาณไว้ไม่เกิน 4.4 แสนล้านบาท และกำหนดกรอบหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% ของจีดีพี ซึ่งการขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาททำให้ภาระหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 47 ในช่วงปลายปีนี้ไม่น่าจะเพียงพอ ซึ่งหากสามารถแก้ไขได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไม่ติดลบหรือสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้บ้างในระดับ 0-1%

นอกจากนี้ภาครัฐควรที่จะกลับมาประเมินและกลับมาดูแลสภาพคล่องของประเทศว่าเงินจะขาดมือหรือไม่ ซึ่งมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ควรพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม เนื่องจากในต่างประเทศก็ใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่ต้องดูจังหวะให้เหมาะสม

และสิ่งสำคัญ ธปท.และกระทรวงการคลังต้องหารือกันให้ดีว่าช่วงไหนจำเป็นต้องใช้เงิน เพราะภาครัฐก็จำเป็นที่จะต้องกู้เงินมากขึ้น และอยากให้พิจารณาในมุมมองใหม่ว่านโยบายการเงินและดอกเบี้ยไม่ใช่ประเด็นหลักในขณะนี้ที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

ส่วนภาพเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยมองว่าน่าจะถดถอยถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 4/52 และคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 0-1% เพราะฉะนั้น นโยบายของรัฐบาลต้องใช้ให้เกิดประโยชน์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

นายสมชัย กล่าวว่า สภาพคล่องในภาคธุรกิจไม่ได้มีปัญหา เพราะผู้ประกอบการยังมีสภาพคล่องดี แต่เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ไม่มีทุนขยายกิจการในขั้นต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากแล้ว แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ปรับดอกเบี้ยในตลาดลงเท่าที่ควร เพราะมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ รัฐบาลจึงควรมีแนวทางการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

"เชื่อว่าผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นกระทบต่อเราแน่นอน ที่เห็นแล้วจากยอดส่งออกที่หายไปล่าสุดในเดือนพ.ย-ธ.ค.51 ด้วยตัวเลข 2 หลัก แม้ภาครัฐเราจะอัดเงินกระตุ้นหรือในประเทศอื่นๆก็ทำ แต่ก็ควรที่จะคำนึงถึงความสมดุลด้วยว่าจะหายไปหรือไม่ ซึ่งนักวิชาการก็เริ่มมองประเด็นดังกล่าวและพูดถึง แต่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ถือว่าจำเป็นและช่วยได้บ้างแต่ก็ควรที่จะพิจารณาถึงเม็ดเงินที่ได้มาให้พอใช้ด้วยหรือลงไปใน sector ไหนก่อน " นายสมชัย กล่าว

ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การตั้งงบประมาณแบบขาดดุลและการใช้งบกลางปีเพิ่มเติมของรัฐบาลไม่น่าเพียงพอที่จะชดเชยภาคการส่งออกที่หดหายไป

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินก็ผ่อนคลายลงมากแล้ว ดังนั้นรัฐบาลควรใช้นโยบายการคลังที่มีการใช้จ่ายและการลงทุนเพิ่มมากขึ้นให้เต็มที่ เพราะฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 37% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก เทียบกับเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 50% ของจีดีพี และส่วนตัวเห็นว่าโอกาสที่จีดีพีของไทยจะติดลบคงเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศอื่นได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจหนักกว่าไทยมาก

ทั้งนี้จากผลกระทบที่เกิดขึ้นมองว่าจะยังทำให้เศรษฐกิจโลกยังไม่ขยายตัวหรืออาจเลวร้ายในระยะยาว และประเมินว่าในไตรมาส 3/52 จะเห็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจโลกและไตรมาส 4/52 ก็อาจจะเห็นเศรษฐกิจในบางประเทศเป็นบวกได้เล็กน้อยจนกระทั่งในปี 53 อาจจะมีการเติบโตของเศรษฐกิจได้บ้าง แต่คงเป็นลักษณะค่อยๆเติบโต

"ผมมองว่าครั้งนี้จะยืดเยื้อและรุนแรงกว่าวิกฤติปี 40 ที่ผ่านมาอีกเพราะปัญหาในครั้งนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกันทั่วโลก จุดที่เกิดขึ้นก็เกิดในสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจาย และคงจะลามมาอย่างแน่นอนอย่างปฎิเสธไม่ได้"นายพรายพล กล่าว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารส่วนนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกว่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจไทยต้องหันมาพึ่งปัจจัยในประเทศมากกว่านอกประเทศ โดยยอมรับว่าช่วงไตรมาส 1-2/52 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความลำบาก

ขณะที่นโยบายการเงินก็ให้ความสำคัญในการดูแลภาวะเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อไม่ให้ติดลบมากเกินไปต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพื่อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ระดับ 0-3.5% อีกทั้งที่ผ่านมาการใช้นโยบายการเงินอาจมีประสิทธิผลน้อย แต่การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายก็เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลังที่เป็นหัวใจสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวคิดที่ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นนอกกรอบที่คงเป็นไปได้ยาก โดยส่วนตัวมองว่าการแก้ปัญหาสภาพคล่องขณะนี้กระทรวงการคลังควรให้ความช่วยเหลือด้วยการตั้งกองทุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน)หรือหากทำไม่ได้เพราะติดอุปสรรคกฎหมาย ก็ต้องหาทางแก้ไขกฎหมายหรือใช้ช่องทางจากธนาคารของรัฐเป็นเครื่องมืออีกทางหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ