สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนอย่างหนักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 ก.พ.) โดยดอลลาร์ร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและปอนด์ แต่ดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร ก่อนที่วุฒิสภาสหรัฐจะลงมติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สกุลเงินดอลลาร์ร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 91.460 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 91.980 เยน/ดอลลาร์ แต่ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1637 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1624 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3014 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.2931 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.4907 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.4801 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดีดตัวขึ้นแตะระดับ 0.6803 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันศุกร์ที่ 0.6757 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.5391 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ 0.5318 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
รอน เลเวน นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์กล่าวว่า เทรดเดอร์เทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐก่อนที่วุฒิสภาสหรัฐจะลงมติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงเที่ยงของวันอังคารที่ 10 ก.พ.ตามเวลาสหรัฐ หรือเที่ยงคืนตามเวลาไทย หลังจาวุฒิสภาสหรัฐบรรลุข้อตกลงในการประนีประนอมเพื่อผ่านแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ภายหลังจากวุฒิสมาชิกสายเดโมแครตเห็นพ้องที่จะปรับลดวงเงินของแผนดังกล่าวลงสู่ระดับ 8 แสนล้านดอลลาร์ จากเดิม 9.37 แสนล้านดอลลาร์
นักลงทุนยังจับตาดูความเคลื่อนไหวในการยกเครื่องโครงการฟื้นฟูสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (TARP) หลังจากนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐเปิดเผยว่า คณะทำงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีแผนที่จะยกเครื่องโครงการ TARP มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ และแนวทางที่คณะทำงานจะนำเงินจากโครงการดังกล่าวมาใช้นั้น มีความแตกต่างกันอย่างมากกับแนวทางของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุชที่เน้นเรื่องการอัดฉีดสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ ซัมเมอร์สเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญ "สถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด" ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สภาคองเกรสจะต้องเร่งผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูตลาดสินเชื่อเพื่อให้อัตราการปล่อยกู้ไหลเวียนตามปกติ
นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดเงินนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐที่ระบุว่า ตัวเลขจ้างงานประจำเดือนม.ค. ร่วงลง 598,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลงหนักสุดในรอบ 35 ปี และรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 524,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.6% เมื่อเทียบกับระดับ 7.2% ในเดือนธ.ค. และทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปี 2535