จีนเผยดัชนี CPI เดือนม.ค.โตเพียง 1% ขณะแบงค์ชาติหวั่นเศรษฐกิจอาจเผชิญเงินฝืด

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 10, 2009 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อภายในประเทศ ขยายตัวเพียง 1% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 3.3% ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลงหนักสุดในรอบเกือบ 7 ปี

เผิง เหวินเจิ้น หัวหน้านักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ส แคปิตอล กล่าวว่า "ตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงทำให้มีความเป็นไปได้ที่ว่าธนาคารกลางจีนจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก หลังจากที่ลดลงแล้ว 5 ครั้งนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว เพื่อกระตุ้นดีมานด์และฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากยอดส่งออกทรุดตัวลงเนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์การเงินรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังวิตกกังวลเรื่องภาวะ 'เงินฝืด' เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง และดีมานด์ภายในประเทศที่ซบเซาลง"

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมประเภท 1 ปีในประเทศจีนยืนอยู่ที่ระดับ 5.31% หลังจากที่ธนาคารกลางจีนลดดอกเบี้ยลงแล้วทั้งสิ้น 2.16% ในปี 2551 ภายหลังจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจีนอาจลดดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ส แคปิตอล คาดว่า จีนจะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.81% ในปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวเพียง 5%

เศรษฐกิจจีนขยายตัว 9% ในปี 2551 หลังจากที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง 13% ในปี 2550 ซึ่งทำให้จีนสามารถแซงหน้าเยอรมนีที่เคยได้ชื่อว่ามีระบบเศรษฐกิจที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก ส่วนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2551 เศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 6.8% ซึ่งเป็นสถิติที่ขยายตัวช้าที่สุดในรอบ 8 ปี เนื่องจากยอดส่งออกและตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลง สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ