แบงก์พาณิชย์แนะรัฐช่วยลดเสี่ยงลูกหนี้สินเชื่อบ้านหลังยอดปฏิเสธคำขอเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 10, 2009 11:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เปิดเผยว่า ขณะนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธการให้สินเชื่อลูกค้าประมาณ 20-30% ส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินเอง และอีกส่วนมาจากคุณสมบัติของผู้กู้ที่อาจมีภาระหนี้อื่นอยู่แล้ว เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ ทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งปกติการให้สินเชื่อบ้านจะให้ผู้กู้ผ่อนชำระไม่เกิน 40% ของรายได้ แต่เมื่อผู้กู้มีภาระหนี้อื่นมาแล้ว ทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ

วิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ทำให้ธนาคารต่างๆ เพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่มีการปฏิเสธการให้สินเชื่อมากขึ้น เพราะบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ทำให้กังวลสินเชื่อใหม่จะกลายเป็น NPL และมีภาระที่ธนาคารต้องสำรองเงินเพิ่มขึ้น และบางแห่งอาจทำให้ธนาคารต้องเพิ่มทุน

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า การปรับเงื่อนไขและมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเป็นความกังวลของสถาบันการเงิน เนื่องจากมีบทเรียนจากซัพไพร์มในสหรัฐที่กลายเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ ดังนั้น หากรัฐบาลไม่เข้ามาช่วยเหลือ คงเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับลูกค้าที่ขอสินเชื่อได้แล้ว และเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ ธนาคารก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ เช่น ลดงวดการผ่อน แต่ต้องคุ้มดอกเบี้ย เพื่อป้องกันการเกิด NPL

ส่วนปัญหาของลูกค้าที่มีการชำระเงินดาวน์หมดแล้วช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา แต่กลับถูกธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธสินเชื่อ ในช่วงที่จะมีการโอนบ้าน อาจแก้ไขโดยหาผู้กู้ร่วม อาจเป็นญาติพี่น้อง สามีภรรยา เพื่อให้ธนาคารนำรายได้มารวมในการพิจารณาสินเชื่อ

นอกจากนี้ เจ้าของโครงการบ้านจัดสรร อาจจะใช้วิธีการให้ลูกค้าเช่าบ้านไปก่อนช่วง 1-2 ปี หลังจากนั้นจึงให้ลูกค้ายื่นขอสินชื่อจากธนาคารใหม่ ถือเป็นอีกแนวทางช่วยเหลือลูกค้า ขณะที่โครงการบ้านจัดสรรบางแห่งนำเงินมาฝากประจำที่ธนาคารเป็นการช่วยเหลือลูกค้า โดยรับความเสี่ยงแทนลูกค้า แต่อาจมีข้อตกลงกับลูกค้าว่าหากผ่อนชำระไม่ได้จะต้องขายคืนบ้านให้โครงการ ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ทางที่ดีที่สุด เห็นว่าลูกค้าควรเลือกซื้อบ้านตามรายได้ของตนเอง

"ส่วนกรณีที่ลูกค้าที่ผ่อนดาวน์หมดแล้ว แบงก์จะยืนคำอนุมัติได้ต่อเมื่อ ลูกค้ายังมีงานทำ และมีรายได้ไม่น้อยกว่าเดิม หรือไม่เป็นเอ็นพีแอลระหว่างทาง แต่หากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ลูกค้าเกิดเป็นเอ็นพีแอล แบงก์ก็ไม่กล้าให้กู้ต่อ เพราะเป็นภาระกับแบงก์มากขึ้น หรือ คนตกงานจะมีปัญหามากในการผ่อนชำระ" นายชาติชาย กล่าวผ่านรายการวิทุย เมื่อเช้านี้

ในส่วนของ KBANK มีระบบ Pre Screenning มีระบบตรวจสอบการให้สินเชื่อให้ลูกค้า ตั้งแต่การผ่อนดาวน์ เพื่อดูความสามารถชำระหนี้ในอนาคติ แต่หากเกิดปัญหาก็ติดต่อธนาคารได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ