ก.พาณิชย์พร้อมแจงงบพันลบ.ช่วยค่าครองชีพ/หารือนายกฯดันแผนกระตุ้นส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 10, 2009 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เตรียมชี้แจงรายละเอียดต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2552 ในสัปดาห์หน้า เกี่ยวกับการของบประมาณ 1,000 ล้านบาทดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ หลังจากที่คณะกรรมาธิการฯได้ส่งเรื่องกลับมาให้กระทรวงจัดทำแผนใหม่ เนื่องจากเดิมไม่มีรายละเอียดเพียงพอ และยังเตรียมหารือกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนตามแผนกระตุ้นการส่งออกที่ยังไม่ได้รับงบประมาณ

สำหรับงบประมาณกลางปีที่ได้เสนอไป 1 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งจะใช้เริ่มโครงการธงฟ้าช่วยเหลือค่าครองชีพกลาง ก.พ.นี้ ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงใช้งบปกติของกรมการค้าภายในดำเนินการก่อน โดยเฉพาะการจัดมหกรรมสินค้าธงฟ้าในพื้นที่ส่วนกลาง หลังจากนั้นคาดว่างบกลางปีจะเริ่มเบิกจ่ายได้ในเดือน เม.ย. ก็จะนำมาใช้ดำเนินตามมาตรการในส่วนภูมิภาค

"คาดว่าคณะกรรมาธิการฯจะอนุมัติงบประมาณให้กับกระทรวงอย่างแน่นอน เพราะเป็นงบประมาณที่ช่วยเหลือค่าครองชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล แต่ที่น่าห่วงคือ แผนกระตุ้นการส่งออกที่ไม่ได้รับงบประมาณ ซึ่งจะได้หารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง" แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ประกอบด้วย โครงการธงฟ้าในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ชื่อโครงการ “ฟ้าสดใส คนไทยยิ้มได้" กำหนดไว้ 4 รูปแบบ คือ ร้านสีฟ้า (บลู ช็อป) หรือร้านจำหน่ายสินค้าราคาเดียว จะเน้นการเปิดร้านตามแหล่งชุมชนสำคัญๆ ทั่วประเทศ นำสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอาหาร ของใช้ประจำวัน เสื้อผ้า ซึ่งเป็นสินค้าส่งออก สินค้าเครือข่ายธงฟ้า สินค้าโอท็อป และสินค้าเอสเอ็มอี เป็นต้น มาจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด 30-50% และราคาไม่เกิน 60 บาท

บริการสีฟ้า (บลู เซอร์วิส) เบื้องต้นได้กำหนดไว้ 9 บริการ เช่น แท็กซี่ สีฟ้า ขอความร่วมมือให้แท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการลดค่าบริการทันทีเที่ยวละ 5 บาท จะเริ่มเปิดตัว 16 ก.พ.นี้ บริการบันเทิงสีฟ้า ได้ดึงเครือเมเจอร์ลดราคาค่าชมภาพยนตร์ให้กับผู้บริโภค และบริการท่องเที่ยวสีฟ้า จะขอให้ภาคท่องเที่ยวและโรงแรมร่วมมือกันจัดแพ็กเก็จลดราคาให้กับลูกค้าไม่ต่ำกว่า 20% เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้บริการภายในโรงแรม

การจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค (บลู เอาท์เล็ต) รูปแบบจะแตกต่างจากร้านสีฟ้า เพราะจะจัดเป็นบูธขนาดใหญ่ มีสินค้าจากโรงงานหลากหลายชนิดมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยผู้ผลิต ให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ และผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูก

และสินค้าเกษตรสีฟ้า (บลู ฟาร์ม) โดยจะนำสินค้าจากแหล่งผลิตมาสู่มือผู้บริโภค และช่วยระบายผลผลิตเกษตรไปยังภูมิภาคต่างๆ แก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ และช่วยให้ผู้บริโภคในพื้นที่อื่นได้บริโภคสินค้าเกษตรที่ราคาถูกลง



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ