นายอาลี อัล-ไนมี รมว.พลังงานซาอุดิอาระเบียคาดการณ์ว่า ซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก จะมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบส่วนเกิน (Spare Capacity) กว่า 4.5 ล้านบาร์เรล/วันภายในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิมที่ 1.5-2 ล้านบาร์เรล/วัน
นายไนมีกล่าวในที่ประชุมสมาคมวิจัยพลังงานเคมบริดจ์ที่เมืองฮุสตันในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาไทย ว่า กำลังการผลิตล็อตใหม่ของซาอุดิอาระเบียจะมาจากโครงการ"คูเรส" ซึ่งจะมีกำลังการผลิตราว 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งมากกว่ากำลังการผลิตของกาตาร์หรือเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นสองสมาชิกกลุ่มโอเปค
"เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดของเราคือการรักษาสมดุลในตลาด ควบคู่ไปกับการรักษาระดับกำลังการผลิตส่วนเกิน ซึ่งกำลังการผลิตส่วนเกินจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับภาวะผันผวนในตลาดน้ำมันได้" รมว.พลังงานซาอุดิอาระเบียกล่าว
ซาอุดิอาระเบียสามารถผลิตน้ำมันได้ 8 ล้านบาร์เรล/วันเมื่อเดือนที่แล้ว ลดลงจากเดือนก.ค.ปี 2551 ซึ่งเป็นเดือนที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 147.27 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆที่เป็นสมาชิกกลุ่มโอเปคอาจตัดสินใจลดกำลังการผลิตครั้งที่ 4 ในรอบ 6 เดือน เพื่อยับยั้งการร่วงลงของราคาน้ำมัน ขณะที่รมว.พลังงานซาอุดิอาระเบียระบุว่า ภาวะผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดน้ำมันเป็นผลมาจากการเก็งกำไร
เมื่อไม่นานมานี้ นายอับดุลเลาะห์ อัล-บาดรี เลขาธิการโอเปค เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐควบคุมการเก็งกำไรน้ำมันของกลุ่มเฮดจ์ฟันด์และนักเก็งกำไรที่เป็นสาเหตุให้ราคาน้ำมันผันผวนอย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกล่าวว่าโอเปคจะกำหนดข้อบังคับเพื่อควบคุมการเก็งกำไรของกลุ่มนักลงทุนที่เข้าซื้อน้ำมันโดยไม่มีแผนที่จะใช้น้ำมัน
"โอเปคเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะลดกระแสการเก็งกำไรในตลาด การกำหนดข้อบังคับครั้งนี้จะทำให้เรารู้ได้ทันทีว่าใครเข้ามาขายหรือซื้อสัญญาน้ำมันในตลาดล่วงหน้า ในช่วงกลางปีที่แล้วสัญญาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 147.27 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ราคาทรุดตัวลงอย่างหนักจนถึงปลายปีเนื่องจากการเก็งกำไร ซึ่งเป็นเหตุให้โอเปคต้องลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่" อัล-บาดรีกล่าว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน