สหรัฐฯ หวังไทยแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อลดอุปสรรคการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 11, 2009 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายเอริค จี.จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และผู้แทนหอการค้าอเมริกันว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ เห็นว่ากฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของไทยเป็นอุปสรรคต่อการค้ามาก โดยเฉพาะไทยมีโครงสร้างภาษีซับซ้อนและเก็บภาษีซ้ำซ้อนจนต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้สหรัฐฯ ต้องการให้แก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดว่า "กรรมการผู้มีอำนาจต้องประชุมกรรมการเอง จะมอบอำนาจให้คนอื่นประชุมแทนไม่ได้" เพราะถือเป็นอุปสรรคต่อกรรมการบริษัทที่เป็นต่างชาติมาก ขณะเดียวกันได้ขอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการคุมราคาสินค้า รวมถึงสอบถามความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตน้ำอัดลมจะขอนำเข้าน้ำตาลทรายเองเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพราะราคาน้ำตาลทรายในประเทศไทยสูงกว่านำเข้า

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในเรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคการลงทุนนั้น ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท โดยเสนอแนวทางแก้ไขเดียวกับกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนที่กำหนดให้บริษัทมหาชนจำกัดสามารถตั้งกรรมการสำรองที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ และเปิดกว้างวิธีการประชุมให้ครอบคลุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา

นางพรทิวา กล่าวว่า ได้ชี้แจงให้ทูตสหรัฐฯ ทราบถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาว่าไทยมีมาตรการที่ชัดเจนในการปราบปรามการสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และมีการดำเนินการที่เข้มข้น ดังนั้นในการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ไทยจึงต้องการให้ทูตสหรัฐฯ ช่วยชี้แจงกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(USTR) ให้ปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL)

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า เตรียมทาบทามนายการุณ กิตติสถาพร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมในทีมเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯของกระทรวงพาณิชย์ ในระหว่างที่ตนเองและนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ จะไปเยือนสหรัฐฯ ปลายเดือน มี.ค.นี้ เพราะนายการุณเคยเป็นหัวหน้าคณะเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA)ไทย-สหรัฐ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ USTR หลายคนและมีความรู้ความสามารถเข้าใจการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอย่างดี

สำหรับประเด็นที่ไทยเตรียมหารือกับ USTR มี 3 เรื่อง คือ การชี้แจงการแก้ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ปลดไทยออกจากบัญชี PWL และการเจรจาเพิ่มความร่วมมือและลดมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เช่น การขอคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และการลดปัญหาส่งออกที่ถูกกระทบจากกฎหมายบายอเมริกัน, กฎหมายฟาร์มแอกต์ เป็นต้น

นอกจากนี้ จะหารือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบันเทิงสหรัฐฯ ให้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงไทย รวมถึงชักชวนให้ผู้สร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ด, รายการโทรทัศน์, ละครชุด และมิวสิควีดีโอ โดยใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ เพื่อช่วยสร้างเงินหมุนเวียนให้เพิ่มเกิน 2,000 ล้านบาท/ปี และช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยและแหล่งท่องเที่ยวไปในตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ