(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.อยู่ที่ 68.3

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 12, 2009 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน ม.ค.52 อยู่ที่ 68.3 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.51 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 67.5

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 67.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 89.7

"แม้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฯ จะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องกันสองเดือนแล้ว แต่ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังไม่ส่งสัญญาณว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เนื่องจากดัชนีโอกาสในการหางานทำยังคงปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในยามนี้"นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าว

นายธรวรรธ์ กล่าวว่า ถึงแม้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ม.ค.ในส่วนที่เกี่ยวกับการคาดหวังต่อสถานการณ์ในอนาคตเกือบทุกรายการปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งยังมีความหวังที่จะเห็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นได้ในอนาคต แต่ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังคงคาดว่าการบริโภคภายในประเทศจากปัจจุบันจนถึงปลายไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จะขยายตัวไม่มากนัก

"เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นฯ ทุกรายการยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติที่ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาการว่างงาน ซึ่งส่งผลในทางจิตวิทยาเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง" นายธนวรรธน์ กล่าว

ปัจจัยบวก คือ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 18 มาตรการ ด้วยการเพิ่มงบประมาณกลางปี 1.15 แสนล้านบาท ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภค มาตรการด้านภาษี และการต่ออายุ" 5 มาตรการ 6 เดือน" รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% มาอยู่ที่ 2%

ขณะที่ปัจจัยลบ คือ ปัญหาวิกฤติการเงินสหรัฐฯ, ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2,ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทย, ผู้บริโภคยังวิตกกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้า, ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า รัฐบาลควรจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการปรับตัวดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไป เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผลักดันการลงทุนของภาคเอกชนให้ฟื้นตัวดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยในปีนี้มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 0-2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ