ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปี 52 ว่า ยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยโดยรวมทั้งระบบน่าจะขยายตัวที่ 6.8% หรือมีมูลค่าประมาณ 1.69 ล้านล้านบาท ชะลอลงจากปี 51 ที่ขยายตัว 7.8% โดยยอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวที่ 10.5% หรือมีมูลค่า 958,500 ล้านบาท ชะลอลงจากปี 51 ที่ขยายตัว 12.5%
ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยปีนี้มีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ คือ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านใหม่ภายในปีนี้ และการขยายระยะเวลามาตรการการลดค่าธรรมเนียมและค่าจดจำนอง ขณะที่สถาบันการเงินเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงแล้ว 0.25-0.050% และมีแนวโน้มที่จะลดลงในระยะข้างหน้าได้อีก
แต่ในสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันที่คาดว่าขยายตัวที่ 0-1.2% จากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ภาคธุรกิจส่งออกบางประเภทมีคำสั่งซื้อลดลง มีการเลิกจ้างแรงงานเป็นจำนวนมากและโรงงานบางแห่งได้ปิดกิจการลง และเริ่มส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจ รายได้ผู้บริโภคลดลง และเป็นแรงกดดันต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย และการขอสินเชื่อ เพราะภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าเศรษฐกิจ สถาบันการเงินจึงเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถาบันการเงินจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ เน้นจับกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่นคงทั้งสถานะการงาน และรายได้ การอนุมัติสินเชื่อในปีนี้จึงเน้นคุณภาพของลูกค้ามากขึ้น เพิ่มความระมัดระวังการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ ทั้งจากข้อมูลเครดิตบูโรและยังต้องตรวจสอบเอกสารเพื่อป้องกันการปลอมแปลง มีการจัดระบบการให้คะแนน (Credit Scoring) เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ เคร่งครัดการปล่อยวงเงินสินเชื่อตามความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้กู้แต่ละราย เพื่อลดความเสี่ยงการเกิด NPL ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องพึ่งพาเงินออมของตนมากขึ้นในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้สถาบันการเงินอาจะมีการปรับระบบราคาประเมินที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่ราคาที่อยู่อาศัยได้ถูกผลักดันขึ้นไปสูงตามกลไกตลาดในช่วงที่เศรษฐกิจดี แต่ในปัจจุบันราคาที่อยู่อาศัยบางแห่งอาจจะมีการปรับลดลง เนื่องมาจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังเผชิญกับภาวะยอดขายที่ลดลง มีการจัดระบบการบริหารและติดตามทวงถามหนี้ จัดเจ้าหน้าที่ติดต่อลูกค้า เมื่อลูกค้าเริ่มผิดนัดชำระหนี้ เพื่อสอบถามถึงปัญหาและเตือนให้ลูกค้าชำระหนี้ และสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ทันก่อนที่จะกลายเป็น NPL
อย่างไรก็ตาม แม้สถาบันการเงินจะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่ธุรกิจยังต้องเดินหน้าต่อท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่เข้มข้น เพื่อแย่งชิงฐานลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการซื้อที่อยู่อาศัยและเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น ช่วงไตรมาส 1/52 สถาบันการเงินน่าจะยังคงรอดูทิศทางของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการตอบรับของผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย
โดยเชื่อว่า สถาบันการเงินยังคงใช้ กลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำระยะสั้น เพราะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ช่วยให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระสินเชื่อ รูปแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย เน้นที่ความหลากหลายของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อมีทางเลือกมากขึ้น และเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระ เช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0% ช่วง 1-6 เดือนแรก อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันไดในช่วง 1-3 ปีแรกของสัญญา เป็นต้น
การแข่งขันเรื่องของระยะเวลาการอนุมัติสินเชื่อ สถาบันการเงิน มีการปรับปรุงปรุงขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการแข่งขันสูง เพิ่มช่องทางการขยายสินเชื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า ช่องทางการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะยังคงเน้นการออกงาน จัดกิจกรรมต่างๆ มีการทำตลาดร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบปี 51 ยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างที่อาศัยทั้งระบบ มีมูลค่าประมาณ 1.583 ล้านล้านบาท ขยายตัว 7.8% ชะลอลงจากปี 50 ที่ขยายตัว 8.7% โดย Q4/51 ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงอย่างมาก จากวิกฤตเศรษฐกิจในต่างประเทศที่เริ่มส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจไทย และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารพาณิชย์ในปี 51 ทรงตัว มีมูลค่าประมาณ 867,363 ล้านบาท ขยายตัว 12.5% แต่ยังคงมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์มีการทำการตลาด เพื่อกระตุ้นยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง