(เพิ่มเติม) รมว.คลัง ชี้ประชุม Special AFMM+3 หนุนสมาชิกร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 13, 2009 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า การประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 วาระพิเศษ(Special ASEAN+3 Finance Ministers’ Meeting: Special AFMM+3) จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินการคลังระหว่างประเทศอาเซียน+3 และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ระบบการเงินขาดเสถียรภาพ และราคาน้ำมันมีความผันผวน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวขึ้นที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลูน่า จ.ภูเก็ต ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ โดย รมว.คลังของไทยและสาธารณรัฐเกาหลีจะเป็นประธานร่วม(Co-chair) และมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รมว.คลังอาเซียน 10 ประเทศ และ รมว.คลังญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลี เลขาธิการอาเซียน และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย

การประชุมครั้งนี้จะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเน้นเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 และหารือเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและมาตรการของภูมิภาคอาเซียน+3 เพื่อให้เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง

พร้อมกันนั้น จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G-20 ตลอดจนการพิจารณาความคืบหน้าในการดำเนินความร่วมมือตามมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่พหุภาคี(Chiang Mai Initiative Multilateralisation:CMIM) เพื่อเป็นกลไกในการเสริมสภาพคล่องทางการเงินระยะสั้นระหว่างกัน รวมถึงการหารือเกี่ยวกับมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย(Asian Bond Market Initiative:ABMI) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดพันธบัตรเอเชีย ทั้งในด้านการเพิ่มอุปสงค์และอุปทาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน(Market Infrastructure)

สำหรับการประชุม Special AFMM+3 นี้นับเป็นการประชุมวาระพิเศษเป็นครั้งแรก โดยปกติการประชุม รมว.คลังอาเซียน+3(ASEAN+3 Finance Ministers’ Meeting) จะจัดประชุมปีละ 1 ครั้งในเดือน พ.ค. ก่อนการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ซึ่งในปีนี้การประชุม AFMM+3 ครั้งที่ 12 จะจัดขึ้นในวันที่ 3 พ.ค.52 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ส่วนหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ อาจจะมีการหารือถึงความท้าทายด้านตลาดทุนของเอเซีย ซึ่งมี 2 ระดับ คือ คือ การวางแนวทางให้นักลงทุนในเอเซียมีโอกาสลงทุนในตลาดทุนของเอเซียมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุน ดังนั้นในระดับหนึ่ง อาจมีการหารือในเรื่องของ Cross Investing เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ของกฎระเบียบต่าง ๆ และเป็นการกระจายการลงทุนของนักลงทุนในเอเซีย และเปิดโอกาสให้ตลาดหุ้นไทย ได้รับเงินลงทุนจากเอเซียมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่มเอเซีย อาจมีการกำหนดนโยบายร่วมกัน เพื่อให้ สร้างความน่าสนใจของตลาดทุนเอเซีย ในสายตาของนักลงทุนนอกกลุ่มเอเซีย เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง และสร้างความน่าใจใจของนักลงทุน

ทั้งนี้ นอกจาก นักลงทุนจะได้รับประโยชน์จาก Cross Investing แล้ว ทางโบรกเกอร์เอง ก็จะได้รับผลดี ในการลงทุนในต่างประเทศ สามารถเสนอขายสินค้าในตลาดต่างประเทศได้ และเป็นกลไกของโบรกเกอร์ที่จะเข้าถึงวิธีการซื้อขายหุ้นในตลาดอื่นๆมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้ คงจะยังไม่พูดถึง แนวคิดการจดทะเบียนข้ามตลาด (Cross Listing) หรือการรวมตลาด แต่ในแผนพัฒนาตลาดทุน คงมีแนวทางการบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง ภายในปี 2015 ที่จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

"ยอมรับว่าเรื่อง Cross Investing อาจยังมีอุปสรรคเรื่องการควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินทุน ซึ่งในเอเซียยังไม่มีการพัฒนาไปสู่การใช้เงินสกุลร่วมกัน ดังนั้น ในการพัฒนาตลาดทุนของเอเซียยังมีข้อจำกัด และในปี 2015 ที่มีการรวมประชาคมอาเซียน ก็ยังไม่มีการรวมถึงการเคลื่อนไหวทางการเงินใด ๆ" รมว.คลังกล่าว

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การประชุม Special AFMM+3 ประเทศสมาชิกอาจมีการทำข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับ CMIM หลังจากก่อนหน้านี้ ประเทศญี่ปุ่น ได้เสนอให้ขยายวงเงิน จาก 80,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 120,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเพียงการตั้งวงเงินเพื่อแสดงความเจตนาความร่วมมือของประเทศสมาชิก

วงเงินดังกล่าว ประเทศในกลุ่มอาเซียน จะสมทบสัดส่วน 20% ขณะที่ประเทศ +3 สมทบสัดส่วน 80% ส่วนไทย พร้อมใช้เงินสำรองระหว่างประเทศจัดวงเงินตามข้อตกลงจำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ผอ.สศค.ยืนยันว่า การจัดตั้งวงเงิน CMIM เป็นข้อตกลงเบื้องต้นของประเทศสมาชิก ยังไม่มีข้อผูกมัดระหว่างประเทศใด ๆ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ