นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจสัปดาห์นี้(18 ก.พ.) จะเชิญคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ(กรอ.)เข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อพิจารณาถึงช่องทางที่เหมาะสมในการจัดสรรเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาทให้แก่ผู้ประกันตนประมาณ 8 ล้านคนที่มีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาท/เดือน ซึ่งคาดว่าในเดือน เม.ย.เงินช่วยเหลือดังกล่าวจะไปถึงมือประชาชนได้
ส่วนการโอนเงินให้กับบุคลากรภาครัฐอีกประมาณ 1 ล้านคนในโครงการเดียวกันนั้น จะมีการดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) โดยเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีเงินเดือนให้แก่บุคลากรของภาครัฐได้ทันที
อนึ่ง ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือเรื่องส่วนลดค่าสินค้าและบริการในกรณีที่รัฐบาลจะเลือกช่องทางการจ่ายเป็นเช็คเงินสดชำระค่าสินค้า ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์เพิ่มจากเงินจำนวน 2,000 บาท โดยได้เป็นส่วนลดค่าสินค้า ขณะที่บุคคลากรภาครัฐจะไม่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้เพราะได้รับเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีจำนวน 2,000 บาท เท่านั้น
ด้านนายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การใส่เงินลงไปในระบบตามมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ทั้งเงินสดและคูปองถือว่าไม่มีความแตกต่างกัน โดยเชื่อว่าผู้ที่มีรายได้น้อยจะนำเงินที่ได้รับออกมาใช้มากกว่าการเลือกที่จะเก็บเงิน
อย่างไรก็ดี เห็นว่ารัฐบาลควรเริ่มเรียกความเชื่อมั่นของประเทศช่วงภาวะถดถอยในระยะยาว เนื่องจากคาดว่าแผนระยะ 1 ปีอาจจะไม่เพียงพอ โดยรัฐบาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างวินัยทางการคลังในระยะ 2-3 ปี เช่น ตั้งงบประมาณระยะกลาง 5 ปี, คาดการณ์การใช้งบประมาณแบบขาดดุลหรือเกินดุลเท่าไร และจะดำเนินการให้เกิดงบสมดุลอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นของต่างประเทศมากขึ้นว่าประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศ