นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉุดไทยฝ่าวงล้อมวิกฤติเศรษฐกิจโลก?"ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เป็นมาตรการเพิ่มเงินให้ประชาชน วงเงิน 1.167 แสนล้านบาท จากการจัดทำงบกลางปี ระยะต่อไปรัฐบาลจะเร่งออกมาตรการระยะกลางและระยะยาว ซึ่งจะมีความชัดเจนในอีก 1 เดือนข้างหน้า เพื่อเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 53
มาตรการระยะกลาง จะเน้นในเรื่องออกมาตรการเพื่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ เน้นการลงทุนขนาดกลางโครงการที่เกิดผลเร็ว และกระจายทั่วทั้งประเทศ รวมทั้ง มาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งรัฐบาลจะต้องส่งสัญญาณชัดเจนที่จะลดการนำเข้าน้ำมันในอนาคต
ส่วนมาตรการระยะยาว จะเป็นมาตรการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรและท่องเที่ยว รวมทั้งการผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่
นายกอร์ปศักดิ์ ยอมรับว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่างบประมาณรายจ่ายปกติกว่า 77% เป็นมาตรการเพื่อสังคม และ 23% เป็นมาตรการเพื่อเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งจัดสรรงบประมาณน้อยกว่า เนื่องจากต้องใช้เวลาดำเนินการมากกว่า แม้ว่าการใช้งบประมาณเพื่อสังคมจะมีผลต่อการเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบน้อยกว่ามาตรการเพื่อเศรษฐกิจก็ตาม
ดังนั้นมาตรการระยะต่อไป ที่เป็นมาตรการระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจึงต้องระมัดระวังการใช้เงินเพื่อให้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด
"เราไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อให้มีการกู้เงิน เพิ่มขึ้น เพราะถือเป็นการทำผิดวินัยการเงินการคลัง และอาจจำไปสู่การใช้จ่ายอย่างไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล...ทั้งนี้ภายในกรอบของกฎหมาย เชื่อว่ารัฐบาลจะบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า นอกจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการจัดทำงบกลางปี 52 แล้ว ยังต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งวางเป้าหมายให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณปี 52 ให้ได้มากกว่า 90% โดยจะมีระบบการติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเร็วเพื่อให้มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ
และหากพบว่าโครงการใดที่มีการเบิกจ่ายงบไม่ทันปีงบในปี 5 และต้องตั้งงบเหลื่อมปี 53 ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม และพร้อมที่จัดตัดงบทันทีหากไม่จำเป็น เพราะจะกระทบต่อประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณและยังกระทบต่อกระแสเงินสดในปี 53 ด้วย
"การเบิกจ่ายงบลงทุนปี 52 น่าจะเบิกจ่ายได้สูง ซึ่งจากแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มี 3 แสนล้านบาท และบริษัทลูกอีก 2 แสนล้านบาท ไม่รวม อปท. ที่ท่านนายกฯ วิเคราะห์ปัญหา กฎระเบียบต่างๆ หากแก้ไขแล้วก็ช่วยกระจายงบสู่ประชาชนระดับท้องถิ่นได้โดยเร็ว"นายกรณ์ กล่าว