กพต.เพิ่มงบเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนใต้อีก 2 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 16, 2009 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ(กพต.) ได้เพิ่มงบประมาณสำหรับแผนพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2552-2554 เป็น 69,731 ล้านบาท และเพิ่มโครงการตามแผนยุทธศาสตร์เป็น 630 โครงการ จากก่อนหน้านี้ที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พ.ค.51 อนุมัติงบประมาณไว้ 48,221 ล้านบาท มีโครงการรวม 357 โครงการ

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ กพต.จะต้องดำเนินการ คือ เน้นการพัฒนาและการดูแลความสงบเรียบร้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาปากท้อง, การคมนาคมขนส่ง และการศึกษา

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะเชื่อมโยงทางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งจาก จ.สตูลไปยังรัฐเปอริส ประเทศมาเลเซียนั้น ขณะนี้มาเลเซียได้ทำถนนเข้ามาถึงชายแดน จ.สตูล แล้ว แต่ถนนทางฝั่งไทยนั้นยังชะลอไว้ก่อนเนื่องจากติดปัญหาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในสมัยรัฐบาลชุดก่อน ทั้งนี้ ที่ประชุม กพต.ได้มีมติให้สภาพัฒน์ไปผลักดันโครงการนี้ต่อไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่สามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า

ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการหรือไม่นั้น รมช.มหาดไทย เชื่อว่า จะไม่เป็นอุปสรรค เพราะแม้ความรุนแรงยังมีอยู่ แต่ปริมาณความรุนแรงได้เริ่มลดลงไปราว 30% และคาดว่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงกำลังปรับปรุงแก้ไข การแก้ไขปัญหาความไม่สงบและผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมืองจำเป็นต้องใช้เวลาและแก้ไขอย่างใจเย็น เพราะรัฐบาลต้องการให้เกิดการสัมฤทธิ์ผล

ด้านนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ที่ประชุม กพต.ได้เห็นชอบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับหมู่บ้านเรียกว่า "โครงการพนม" ซึ่งจะทำใน 2,200 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 4 จังหวัด กับ 4 อำเภอ ของสงขลา และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในครั้งต่อไป

ในส่วนของภาคธุรกิจนั้นมีข้อเสนอจากหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมใน 5 จังหวัดภาคใต้รวม 21 ข้อ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนอย่างไร ทั้งนี้ศอ.บต.จะสรุปเรื่องเพื่อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ในการประชุม กพต.เพื่อพิจารณาต่อไป

ข้อเสนอของภาคเอกชน ได้แก่ ขอให้รัฐบาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 0.1% เป็นเวลา 10 ปี, การให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เสี่ยงโดยไม่จำกัดเวลา, ขอลดจ่ายค่าประกันสังคมของลูกจ้างและนายจ้างลงเป็นเวลา 10 ปี เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ