นักวิเคราะห์คาดส่งออกทั้งปี -5 ถึง-8% ส.อ.ท.หวังหลังพ้น Q1/52 ดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 17, 2009 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)คาดว่า ภาคการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/52 คงจะขยายตัวติดลบ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศที่มีการส่งออกเป็นหลักทั่วโลก เนื่องจากกำลังซื้อทั่วโลกหดตัว แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นเมื่อผ่านพ้นช่วงไตรมาสนี้แล้ว หลังจากประเทศต่างๆ ได้ออกมาตรการต่างๆ มาฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกควรใช้ช่วงเวลาที่ยอดสั่งซื้อหดตัว พัฒนาปรับปรุงสายการผลิต และยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานโลก เพราะเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจะทำให้ขีดความสามารถของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก และจะทำให้มีการฟื้นตัวได้เร็วกว่าชาติอื่นๆ

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 52 อาจจะขยายตัวติดลบ 5-8% ภายใต้สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนที่ 36 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบที่ 45 ดอลลาร์/บาร์เรล

ยอดการส่งออกของไทย ม.ค.52 คาดว่าจะติดลบ 25% เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกถึง 60% ดังนั้น การที่กลุ่มประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจหลักอย่างเช่น สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัว ก็จะทำให้กระทบต่อยอดสั่งซื้อโดยตรง และจะเริ่มกระทบต่อภาคแรงงานในระยะต่อไปด้วย

แนวทางที่รัฐบาลจะต้องรับมือคือต้องหาอุตสาหกรรมประเภทใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันได้ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และการบริการ มาชดเชยอุตสาหกรรมเดิมที่มียอดการสั่งซื้อน้อยลง และควรมีการขยายการค้าในภูมิภาคอาเซียนให้มากขึ้นเพื่อชดเชยตลาดหลักที่หดตัวลง

ด้านนางนฤมล สอาดโฉม รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา Nida Business School สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สนับสนุน แนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยด้วยการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ผลิตใหม่ 3% และการให้ประชาชนสามารถนำเงินที่ใช้ซื้อรถยนต์มาหักลดภาษีบุคคลธรรมดา

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้รุนแรงที่สุด เพราะยอดสั่งซื้อรถยนต์ในกลุ่มตลาดหลักปรับลดลงอย่างชัดเจน หากไม่มีการช่วยเหลือก็อาจทำให้มีปัญหาการปิดกิจการและปลดคนงานตามมาด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยเหลือได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ยังคงน่าเป็นห่วง

นางนฤมล กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป คือ แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐที่จะส่งผลต่อไทยในด้านการส่งออก การประกาศตัวเลขหนี้เสียของสถาบันการเงินชั้นนำในต่างประเทศที่จะมีผลต่อเครดิต สินเชื่อต่างๆ และการกีดกันทางการค้า ซึ่งถือเป็นปัญหาที่น่ากังวลต่อประเทศที่มีรายได้หลักจากการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ