"กรีนสแปน"ชี้มาตรการ$7.87 แสนล้านไม่พอหนุนศก.ฟื้นตัว แนะ"โอบามา"ศึกษาบทเรียนจากญี่ปุ่น

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 18, 2009 10:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.87 แสนล้านดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อคืนนี้นั้น ยังไม่มากพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ และระบุว่ารัฐบาลสหรัฐยังพยายามไม่มากพอในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการเงิน

ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.87 แสนล้านดอลลาร์เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อคืนนี้ พร้อมประกาศว่ากฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับนี้เป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวในระยะยาว โดยรายละเอียดของมาตรการฟื้นฟูฯ ครอบคลุมถึงการลดหย่อนภาษีในภาคเอกชน และการจัดสรรงบประมาณ 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานและให้สวัสดิการด้านสุขภาพแก่ประชาชนที่ตกงานด้วย ซึ่งโอบามามั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นการจ้างงานได้ถึง 3.5 ล้านตำแหน่ง

"จำนวนเงินเพียงเท่านี้ยังไม่มากพอที่จะแก้ปัญหาในระบบเศรษฐกิจและการเงินได้ เราต้องศึกษาบทเรียนจากญี่ปุ่นในช่วงทศวรรรษที่ 1990 เพื่อนำมาเป็นแนวทางแก้ไขระบบการเงินและการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง" กรีนสแปนกล่าวให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวก่อนเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเศรษฐกิจในนิวยอร์ก

กรีนสแปนยังแสดงความคิดเห็นเรื่องโครงการลดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (TARP) วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ที่คณะทำงานของโอบามาประกาศว่าจะเปิดทางให้สถาบันการเงินสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากโครงการดังกล่าว ว่า "งบประมาณในโครงการนี้น้อยเกินไป การจะทำให้ระบบการธนาคารมีเสถียรภาพและกระตุ้นการปล่อยกู้ให้ไหลเวียนตามปกติได้นั้น รัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่โครงการนี้มากขึ้น"

นอกจากนี้ กรีนสแปน วัย 80 ปี ยังย้ำถึงความสำคัญในการยับยั้งการร่วงลงของราคาบ้านและการเสริมสร้างงบดุลของธนาคารพาณิชย์ให้แข็งแกร่ง ซึ่งหากดำเนินการเช่นนี้ควบคู่กันไปแล้ว จะทำให้วิกฤตการณ์ในระบบการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์คลี่คลายลงได้ แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาราคาบ้านในสหรัฐตกต่ำลงอย่างมาก และยอดการยึดบ้านติดจำนองก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ กรีนสแปนประเมินว่า ภาวะล่มสลายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับราคาหลักทรัพย์ทั่วโลกที่ทรุดตัวลงในขณะนี้ จะทำให้สูญเสียเม็ดเงินไปกว่า 40 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของตัวเลข GDP ทั่วโลกปีที่แล้ว

การแสดงความคิดเห็นของปราชญ์ด้านการเงินและการธนาคารอย่างกรีนสแปน สะท้อนให้เห็นว่า โอบามากำลังเผชิญกับความท้าทายในการยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2551 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 3.8% ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวรุนแรงสุดในรอบ 27 ปี สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ