นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า การส่งออกของไทย ในเดือน ม.ค. 52 จะขยายตัวติดลบมากกว่า 20% ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ จะแถลงตัวเลขการส่งออก ม.ค.ที่ชัดเจน ในวันที่ 20 ก.พ.นี้
นอกจากนี้ รมว.คลัง กล่าวยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/52 มีโอกาสติดลบต่อเนื่องจากไตรมาส 4/51 ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เคยประเมินว่าไตรมาส 4/51 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบราว 3-3.5% แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)จะประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในสัปดาห์หน้า
รมว.คลัง กล่าวว่า จากตัวเลขการส่งออกของหลายประเทศ รวมถึงการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจทั่วโลกยังชะลอตัวไม่ถึงจุดต่ำสุด ดังนั้น รัฐบาลต้องพยายามบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง โดยการนำมาตรการต่างๆ ออกมาประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอยู่ในระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งได้ในที่สุด
"การที่สภาพัฒน์คาดว่าไตรมาส 4/51 เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 3% ถือเป็นระดับที่กระทรวงการคลังทราบมาก่อนหน้านี้ แต่หวังว่าการจัดทำงบกลางปี 1.167 แสนล้านบาท จะช่วยแก้ไขปัญหาการชะลอตัวได้ในระดับหนึ่ง"รมว.คลัง กล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจวันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โดย ธปท.ให้ความสำคัญในการติดตามค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด มีการเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งและประเทศคู่ค้ามาโดยตลอด สะท้อนว่า ธปท. ทราบว่าถึงผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออก และมั่นใจว่า ธปท.มีแนวทางดูอัตราแลกเปลี่ยนตามความเหมาะสมอยู่แล้ว
รมว.คลัง กล่าวถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในรูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP ) นั้นถือเป็นแนวทางที่ไทยเคยใช้มาแล้วในอดีตทั้งในโครงการทุกขนาด อาทิ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการกำหนดกรอบให้ชัดเจนว่าโครงการในลักษณะใดที่ภาคเอกชนจะเข้าร่วมลงทุนได้ และมีสัดส่วนการร่วมลงทุนมากน้อยอย่างไรเพราะการลงทุนในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับการกำหนดงบประมาณในอนาคต