อุตฯ เหล็ก-สิ่งทอ-อาหาร รับส่งออกชะลอตัวแต่ยังไม่มีปัญหาเลิกจ้างแรงงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 18, 2009 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ประกอบการ 3 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมอาหาร ระบุการส่งออกและการบริโภคในประเทศปีนี้ลดลงอย่างแน่นอนตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยืนยันยังไม่มีการปรับลดคนงาน

นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย คาดว่า การใช้เหล็กในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีก่อนราว 10% จากที่มีความต้องการใช้เหล็กกว่า 10 ล้านตัน โดยเป็นการปรับลดลงตามอุตสาหกรรมรถยนต์และไฟฟ้าที่มียอดการผลิตลดน้อยลง แต่เชื่อว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าสถานการณ์จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว

สำหรับความคืบหน้าโครงการเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูงที่มีกำลังการผลิตประมาณ 5-8 ล้านตันต่อปี นายวิกรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะทำงานจำนวน 3 ชุด เพื่อจัดทำรายละเอียดโครงการ ได้แก่ การจัดหาพื้นที่ก่อสร้าง การทำความเข้าใจกับชุมชน โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนญี่ปุ่น 2 รายที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ขณะที่นายวิรัตน์ ตันเดชานุรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ในปีนี้ได้ตั้งเป้าการส่งออกสิ่งทอของไทยยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากปีก่อนที่มีมูลค่าส่งออกรวม 7,289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่เคยลงทุนในจีนเตรียมย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในไทยมากขึ้น ประกอบกับการส่งออกสิ่งทอได้รับผลดีจากการทำข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(เจเทปปา) ทำให้ไทยมีลูกค้ามากขึ้น แต่ขณะนี้ยังเป็นห่วงเรื่องการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว

ส่วนปัญหาการเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้น นายวิรัตน์ กล่าวว่า ไม่น่าเป็นห่วง เพราะหากโรงงานใดปิดกิจการ แรงงานก็สามารถย้ายไปทำงานโรงงานอื่นได้ เพราะเป็นแรงงานที่มีทักษะอยู่แล้ว

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า การส่งออกสินค้าอาหารในปีนี้คาดว่าจะมียอดส่งออกประมาณ 724,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนประมาณ 7-10% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคมีการประหยัดการใช้จ่ายลง โดยอาหารที่จะส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบก็ปรับลดลงถึง 22% ส่วนอาหารสำเร็จรูปราคาเพิ่มขึ้น 5% เนื่องจากประชาชนหันมาบริโภคอาหารสำเร็จรูปกันมากขึ้น

ส่วนเรื่องการจ้างงาน นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารมีความแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น โดยขณะนี้ยังไม่มีการเลิกจ้าง แต่กลับมีแนวโน้มจ้างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เนื่องจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ