(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออกหด 26.5% นำเข้าลด 37.6% เกินดุล 1.38 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 19, 2009 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ม.ค.52 มีมูลค่า 10,496 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 26.5% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 9,119 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 37.6% ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 1,377 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

"ยอดส่งออกเดือนมกราฯ ปรับตัวลดลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 40" นายศิริพล กล่าว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาวะการส่งออกที่ปรับตัวลดลง ไม่ได้เกิดขึ้นกับไทยประเทศเดียว แต่หลายๆ ประเทศก็ลดลงเช่นกัน โดยจีนลดลง 17.4% ญี่ปุ่น 46.1% สิงคโปร์ 37.8% เวียดนาม 24.2% ไต้หวัน 40% ขณะที่การนำเข้าก็ลดลงด้วย โดยจีนลดลง 43.1% ญี่ปุ่น 25..5% สิงคโปร์ 33.3% เวียดนามลดลง 44.8% ซึ่งหลายๆ ประเทศเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบไปด้วย

ทั้งนี้ คาดว่า การส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะยังติดลบ แต่จะกลับมาเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกน่าจะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 0-3% มูลค่า 177,841-183,177 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำได้หรือไม่นั้น กระทรวงพาณิชย์จะประเมินผลร่วมกับทูตพาณิชย์ในวันที่ 25-26 ก.พ.นี้อีกครั้งจึงจะสามารถยืนยันได้

"ตอนประกาศเป้าหมายส่งออกปีนี้ครั้งแรกเมื่อต้นปี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ดี การส่งออกโลกยังเป็นบวกมาก แต่การประเมินล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียง 0.5% การค้าโลกติดลบ 2.8% จึงต้องประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง ถึงจะบอกได้ว่าจะทำได้ตามเป้า 0-3% หรือไม่" นายศิริพล กล่าว

ด้านนายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า การส่งออกในเดือน ม.ค.ที่ติดลบนั้นเป็นไปตามคาดหมาย เพราะตลาดส่งออกหดตัวจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ผู้ส่งออกขาดสภาพคล่องอย่างหนัก แม้จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาแต่ไม่มีเงินผลิตสินค้า รวมถึงราคาสินค้าต่อหน่วยลดลงมากในเกือบจะทุกสินค้า เพราะราคาน้ำมันโลกลดลงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงมาก โดยสินค้าที่มูลค่าส่งออกลดลงอยู่ในทุกหมวด ได้แก่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมลดลง 25.6% สินค้าอุตสาหกรรมลดลง 24.5% และสินค้าอื่นๆ ลดลง 34.6%

อย่างไรก็ตาม มีเพียงสินค้าบางรายการที่มูลค่าส่งออกได้ดีขึ้น เช่น ไก่สดแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้น 13.6% อาหารอื่นๆ เพิ่มขึ้น 7% แสดงให้เห็นว่า สินค้าอาหารยังเป็นจุดแข็งของไทย ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ส่งออกลดลง ยกเว้น อัญมณี ผลิตภัณฑ์เภสัชและเครื่องมือแพทย์ที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น 37.4% และ 7% ตามลำดับ

สำหรับตลาดส่งออกลดลงต่อเนื่องจากปลายปี 51 ทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดหลักลดลง 28.2% ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น ลดลง 34.8%, 28.4%, 27.7% และ 18.8% ตามลำดับ ส่วนตลาดใหม่ลดลง 24.7% เช่น ไต้หวันลดลง 53% ลาตินอเมริกาลดลง 41.2% จีนลดลง 40.1% อินโดจีนลดลง 38% ฮ่องกงลดลง 31.6% อินเดียลดลง 29.8% เกาหลีใต้ลดลง 25.9% ยุโรปตะวันออกลดลง 25.3% แอฟริกาลดลง 25.1% เป็นต้น

อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า กรมฯ จะยังคงเดินหน้าผลักดันการส่งออกสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบุกเจาะตลาดใหม่ เพราะเป็นตลาดที่มีโอกาส โดยในเดือน ม.ค.นี้ สัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 50.5% ตลาดหลัก 49.5% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดหลัก และหันมาบุกเจาะตลาดใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ