เรคกูเลเตอร์จะพิจารณาขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซฯ ปตท.อีก 2.02 บาท/ล้านบีทียู

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 19, 2009 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(เรคกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า หลังหารือกับผู้บริหาร บมจ.ปตท.(PTT) เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติใหม่แล้วได้ข้อสรุปว่าจะขยับขึ้นค่าผ่านท่อจาก 19.74 บาท/ล้านบีทียู เป็น 21.76 บาท/ล้านบีทียู หรือปรับขึ้น 2.02 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่า ปตท.เสนอมาที่ 22.57 บาท/ล้านบีทียู

นายดิเรก กล่าวว่า เหตุที่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซครั้งนี้ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าผ่านท่อก๊าซฯ มานานแล้ว โดยจะเสนอให้ที่ประชุมเรคกูเลเตอร์พิจารณาในวันที่ 23 ก.พ.นี้

ทั้งนี้ เรคกูเลเตอร์จะนำข้อมูลการปรับขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซฯ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) โดยจะมีการรับฟังความเห็นประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะนำมาปรับปรุงข้อมูล แต่หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คาดว่าจะประกาศอัตราใหม่ได้เร็วสุดประมาณเดือน เม.ย.นี้

นายดิเรก กล่าวว่า ปกติแล้วจะมีการทบทวนค่าผ่านท่อก๊าซทุกๆ 3 ปี แต่ทางเรคกูเลเตอร์จะติดตามข้อมูลการลงทุนโดยตลอด หากพบว่า ปตท.ปรับแผนหรือชะลอการลงทุนตามความต้องการพลังงานที่ลดลงก็สามารถปรับเปลี่ยนอัตราใหม่ให้เหมาะสมได้ทุกปี

อย่างไรก็ตาม การลงทุนท่อก๊าซฯ เป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นเรคกูเลเตอร์ได้พิจารณาทั้งผลกระทบประชาชน จึงต้องเฉลี่ยให้ปรับขึ้นในอัตราต่ำ แต่ก็ดูถึงผลตอบแทนของผู้ลงทุนที่เหมาะสม เพราะวงเงินลงทุนโครงการใหม่มีมูลค่าสูงมากนับเป็นแสนล้านบาท ทั้งโครงการท่อก๊าซฯ เส้นที่ 3 ท่อก๊าซเจดีเอ และโครงการท่อก๊าซฯ เส้นที่ 4 ระยอง-สระบุรี ระยะทาง 300 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 39,000 ล้านบาท ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างทำแผนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) โดย ปตท.ประกาศเลื่อนการลงทุนไป 1 ปี ตามผลกระทบเศรษฐกิจ และการชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไอพีพีใหม่คาดจะก่อสร้างเสร็จประมาณปี 54-55

ด้านนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า การปรับขึ้นของค่าผ่านท่อก๊าซฯ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผลิตไฟฟ้าบ้างเล็กน้อย เพราะค่าก๊าซปรับขึ้นในอัตราไม่สูงนัก จากปัจจุบันที่มีราคา 230 บาท/ล้านบีทียู เพราะต้นทุนส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับราคาเนื้อก๊าซเป็นหลักซึ่งผันแปรตามราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน และคาดว่าราคาเนื้อก๊าซจะลดลงได้ประมาณครึ่งหลังของปีนี้ โดยปัจจุบัน กฟผ.ใช้ก๊าซประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ