ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกปีนี้อาจหดตัวถึง 10-16% หลัง ม.ค.ติดลบหนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 20, 2009 08:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยทั้งปี 52 จะหดตัว 10-16% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 7-12% นับเป็นการถดถอยของการส่งออกครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์ของไทย จากในอดีตการส่งออกของไทยเคยหดตัวเฉลี่ยครั้งรุนแรงที่สุดปี 18 (หลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 1)หดตัว 9.5%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขการส่งออกเดือน ม.ค.52 หดตัวถึง 26.5% หดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ และมีอัตราการขยายตัวติดลบเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จึงคาดว่าสภาวะที่การส่งออกหดตัวสูงเป็นอัตราตัวเลขสองหลักนี้จะต่อเนื่องต่อไป จนถึงสิ้นไตรมาส 3/52

การฟื้นตัวของการส่งออกยังเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม เนื่องจากขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งจุดศูนย์กลางของปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และยังเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดที่มีสัดส่วนกว่า 20% ของตลาดโลก ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจล่าช้าออกไป จากที่คาดการณ์เดิมว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในไตรมาส 4/52 อาจข้ามเลยไปถึงปี 53 เนื่องจากปัญหาการว่างงานที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลกจะเป็นผลทำให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายลดน้อยลง

ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยิ่งล่าช้า จะทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยตลอดทั้งปี 52 จะยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ถึงผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ต่อกลุ่มสินค้าส่งออกของไทยแยกเป็นรายกลุ่มพบว่า กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงและฟื้นตัวช้า เช่น กลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกล ชิ้นส่วนอากาศยาน และอาจรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องเรือน โดยสินค้ากลุ่มนี้มีลักษณะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและมีราคาสูง ซึ่งมักได้รับผลกระทบหนักในภาวะที่คนมีรายได้ลดลง

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นสินค้าทุนที่จะถูกกระทบจากสภาวะกำลังการผลิตล้นเกินในขณะนี้ การฟื้นตัวของสินค้ากลุ่มนี้อาจต้องรอจนถึงช่วงไตรมาส 4/52 ถึงปี 53

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบรุนแรงแต่มีโอกาสฟื้นตัว เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทฮาร์ดดิสก์ เซมิคอนดักเตอร์ โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมหดตัวสูงถึง 40.4 % ใน ม.ค.52 แต่คาดว่าอาจเห็นการปรับตัวดีขึ้นบ้างในช่วง H2/52 เมื่อระดับสินค้าคงคลังเริ่มลดลง นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังมีความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าปลายน้ำที่ค่อนข้างหลากหลาย

กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับตัวลดลงของทั้งด้านราคาและความต้องการสินค้า แต่สินค้าโภคภัณฑ์ที่สวนกระแส คือ ทองคำ ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 99.1% เป็นผลจากแรงขายทองคำจากผู้บริโภคในช่วงที่ราคาทองปรับสูงขึ้นอย่างมากทำให้ผู้ค้าต้องส่งออกทองคำเพื่อไม่ให้ต้องแบกรับต้นทุนสูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ การฟื้นตัวอาจจะเริ่มเห็นได้ถ้าหากมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเริ่มกล้าที่จะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศชั้นนำ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนที่

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มสินค้าเกษตร ปัจจัยที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือสภาพอากาศ ซึ่งถ้าหากเกิดปัญหาความแห้งแล้งในปีนี้รุนแรงในระดับโลกจนสร้างความเสียหายต่อผลผลิตพืชผลที่สำคัญ ในด้านหนึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนราคาสินค้าเกษตรให้กลับมาดีขึ้น

กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบปานกลาง สินค้าข้าวของเครื่องใช้ใกล้ตัว เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ของเล่น อาจหดตัวในอัตราที่น้อย แต่ปัญหาที่ผู้ผลิตอาจต้องเผชิญคือการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะการตัดราคาจากประเทศผู้ผลิตที่มีการผลิตขนาดใหญ่และมีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าไทย

และกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เช่น กลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าที่ผู้บริโภคมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น ดังจะเห็นได้ว่า สินค้ากลุ่มนี้ยังคงมีการส่งออกที่ค่อนข้างทรงตัวหรือยังขยายตัวได้ เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแนวโน้มที่ภาคธุรกิจส่งออกของไทยจะยังคงเผชิญผลกระทบที่รุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลก และ การปรับตัวของผู้ประกอบการในสภาวการณ์เช่นนี้ การหาตลาดใหม่อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเข้ามาชดเชยกำลังซื้อในตลาดหลักที่หายไปจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่การรุกตลาดใหม่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดใหม่เองก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมาก การทำธุรกรรมกับคู่ค้ารายใหม่ๆ อาจมีความเสี่ยงในเรื่องการชำระค่าสินค้าตามสัญญา ดังนั้น กลยุทธ์การปรับตัวให้อยู่รอดคงไม่อาจหวังพึ่งตลาดใหม่เพียงหนทางเดียว ผู้ประกอบการควรแสวงหากลุ่มตลาดที่มีกำลังซื้อในตลาดหลักควบคู่กันไปด้วย โดยมุ่งเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้มั่นคง ซึ่งยังมีกำลังซื้อ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรจับตามาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าสูงของรัฐบาลในแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด การเปิดรับข้อมูลโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ จะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดกลยุทธ์การส่งออกและการค้นหาโอกาสท่ามกลางภาวะวิกฤตนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ