(เพิ่มเติม) รมว.คลัง รับเศรษฐกิจ Q1-Q2ปี 52 มีโอกาสติดลบ เตือนดูบาทห่วงพลิกแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 20, 2009 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ยอมรับว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้มีโอกาสที่จะอยู่ในภาวะติดลบต่อเนื่องมาจากไตรมาสสุดท้ายของปี 51 แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ 0-2% หรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลพยายามนำมาตรการต่างๆ ออกมาใช้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง

รมว.คลัง กล่าวว่า คงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไรคงต้องรอดู โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศในกลุ่มยุโรปที่ยังไม่รู้ว่าถึงจุดต่ำสุดหรือยัง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อน

สำหรับวิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้อาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานถึง 2-3 ปี จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะใช้เวลาแค่ 6-12 เดือนเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐดำเนินการเพียงลำพัง ขณะที่ประเทศไทยเองยังมีเสถียรภาพทางการเงินการคลังอยู่ในระดับที่ดีมากหากเทียบกับประเทศอื่นๆ จึงเชื่อว่าจะสามารถดูแลแก้ไขปัญหาได้

นายกรณ์ กล่าวว่า การชะลอตัวของภาคการส่งออกของไทยเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหดตัวลง สิ่งที่สำคัญคือการปรับตัวในระยะสั้นและระยะยาว โดยผู้ประกอบการเองต้องมีสายป่านยาว ดังนั้น สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องการคือการค้ำประกันการส่งออก และการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ

รัฐบาลก็ได้ให้ความช่วยเหลือแล้วด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์)ในการค้ำประกันสินเชื่อ 1.5 แสนล้านบาท และ การค้ำประกันสินเชื่อ โดย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นอกจากนี้ ได้หารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้การสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ให้การตอบรับที่ดีเช่นกัน

นายกรณ์ กล่าวภายหลังการหารือกับตัวแทนภาคการส่งออกรายใหญ่ของไทยในงานเสวนา"ศุกร์เศรษฐกิจกับรัฐมนตรีกรณ์"ในหัวข้อ"ถกทางออกส่งออกไทย"ว่า การหารือกับภาคเอกชน เป็นการสะท้อนปัญหาที่ภาคเอกชนต้องการ เพราะภาคเอกชน จะเข้าใจปัญหาได้ดีกว่า และจากการหารือกับผู้ส่งออกส่วนใหญ่ยังมองว่ายังมีศักยภาพการแข่งขันได้ เพียงแต่ยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในบางเรื่อง

นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือกับนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับปัญหาของผู้ส่งออกที่มีการแย่งชิงลูกค้ามากขึ้น หรือบางรายผันตัวเองไปเป็นฐานการผลิตในบางอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งเห็นว่าควรมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมารับผิดชอบดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยเพื่อรักษาระดับขีดความสามารถการแข่งขัน และการรักษาฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก

"ส่งออกของไทยที่ ม.ค. ติดลบ 26% ไม่ได้ถือว่ามาก เมื่อเทียบหลายประเทศ เช่นไต้หวัน ติดลบมากกว่าเราเป็น 2 เท่า ญี่ปุ่น ติดลบ 35% ขณะที่เศรษฐกิจหลายประเทศหดตัวมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ดังนั้นปัญหาที่ต้องดูแลคือคุณภาพสินค้า ความสามารถการแข่งขัน เพราะต้นทุนสินค้าขณะนี้ผู้ประกอบการไม่ได้กังวลแล้วหลังราคาน้ำมันลดลง แต่ขอให้ดูอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียภาพ มีความมั่นคงทางการเงิน และขอรัฐช่วยเหลือบางเรื่อง" นายกรณ์ กล่าว

รมว.คลัง กล่าวเตือน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ระวังค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้น แม้ขณะนี้เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าตามภูมิภาค ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ส่งออก แต่อีกด้านเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้การนำเข้าสินค้าแพงขึ้นด้วย ทั้งนี้ คงไม่สามารถกำหนดได้ว่า ต้องการให้เงินบาท อยู่ในระดับใด แต่ แนวโน้มในปี 52 ที่ภาคการส่งออก หดตัวลง และการนำเข้า ลดลงตาม จะทำให้เกิดการเกินดุลการค้า และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะมีผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เชื่อว่า ธปท. จะมีการดูแลเงินบาทอย่างใกล้ชิด

"มั่นใจแบงก์ชาติจะดูแลเงินบาทได้ เพราะมีการรายงานในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจทุกสัปดาห์ แต่ก็อยากตั้งข้อสังเกตที่ มองว่า ส่งออกที่ติดลบ และจะทำให้เกิดการเกินดุลการค้า และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยที่นำเข้าก็ลดลง ก็ต้องดูว่าจะทำให้บาทแข็งค่าได้หรือไม่

ด้านนายสมพงษ์ นครศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สายไฟฟ้า บางกอกเคเบิ้ล จำกัด ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ กล่าวว่า กลุ่มนี้ คิดเป็น 1 ใน3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งช่วงที่ผ่านมมาจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก สินค้ากลุ่มไอที หดตัวไปแล้ว 40% ดังนั้นเห็นว่า รัฐบาลควรจะทำให้เงินบาทอ่อนค่า มากกว่าระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก และเพิ่มโอกาสการแข่งขัน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่ม เครื่องปรับอากาส เป็นสินค้าที่สามารถขยายตลาดได้แถบยุโรปได้

ด้านผู้ส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม กล่าวว่า ปัญหาของอุตสาหกรรมนี้ เป็นเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แม้ปัจจุบันจะมีสถาบันวิจัยด้านนี้เป็นการเฉพาะ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง ทำให้ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักจะผลิตสินค้าตามออร์เดอร์ต่างประเทศมากกว่า แต่จากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ย่อมกระทบต่อยอดการสั่งซื้อสินค้าแน่นอน

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น เป็นตลาดใหม่ที่น่าขยายการส่งออกได้ แต่ปัจจุบัน ญี่ปุ่น มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากไทยเพียง 1% ขณะที่นำเข้าจากจีนถึง 80% ส่วนตลาดแอฟริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง แต่ติดปัญหาเรื่องการกีดกันการเข้าประเทศ เนื่องจากกังวลเรื่องยาเสพติด ทำให้ลูกค้าเข้าประเทศไทยได้ยาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ