นายกฯถกอาเซียนรับมือการกีดกันการค้าแบบใหม่ ดูแลค่าเงินไปในทางเดียวกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday February 22, 2009 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 วาระพิเศษ ได้มีการหารือถึง เรื่องการถูกกีดกันทางการค้า โดยพบว่า หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ประเทศต่างๆ มีการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ เช่น กรณีประเทศที่ประสบวิกฤติเศรษฐกิจมีการถอนเงินลงทุนกลับ ได้ส่งผลรุนแรงต่อสภาพคล่อง และ กระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาค และมีผลต่อเนื่องต่อภาวะเศรษฐกิจและการค้า การส่งออก ดังนั้น เห็นว่าประเทศในภูมิภาคเอเซีย ควรต้องเฝ้าระวัง มาตรการกีดกันการค้าที่เกิดขึ้น และ ต้องหารือร่วมกันเพื่อกำหนดนนโยบาย ดูแลการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาค ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่ผันผวน

ทั้งนี้เห็นว่า ในเวทีการประชุมครั้งนี้ คงไม่ใช่เวทีหลักของการหารือเรื่องการกีดกันทางการค้า แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องระดับผู้นำ และเวทีการค้าของประเทศต่างๆ ที่ต้องระมัดระวัง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น มีผลกระทบได้ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ แม้ทุกประเทศ จะไม่ต้องการให้เกิดขึ้น หรือไม่มีนโยบายกีดกันการค้าก็ตาม

"เมื่อก่อนการกีดกันทางการค้า จะใช้เรื่องมาตรการภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี แต่ครั้งนี้อยากให้ประเทศในอาเซียน ใช้เวทีต่างๆ เรียกร้องไม่ให้เกิดการกีดกันการค้ารูปแบบใหม่ หลังพบว่า ประเทศที่ประสบวิกฤติมีเรียกเงินทุนกลับ และส่งผลรุนแรงต่อประเทศที่ถูกเรียกเงินคืน และมีต่อเนื่องถึงอัตราแลกเปลี่ยน การค้า การส่งออก แม้แต่ละประเทศเรียกเงินคืนไม่พร้อมกัน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ในการเดินทางเข้าร่วมการประชุม G 20 ในเดือน เม.ย.นี้ ตนเอง และ นายกรัฐมนตรีของประเทศอินโดนีเซีย จะได้นำประเด็นดังกล่าวนำเสนอต่อที่ประชุมด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในการประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 วาระพิศษ ยังมีประเด็นหลักของการหารือใน 3 เรื่อง ความร่วมมือติดตามสถานการณ์การเงินและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก หลังจากสถานการณ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วง 10 ปีที่ผานมา จึงเห็นว่า การหารือครั้งนี้ ประเทศสมาชิก น่าจะมีระบบการดูแลเศรษฐกิจที่ร่วมมือกันมากขึ้น

นอกจากนี้ จะมีการหารือต่อเนื่องเกี่ยวกับข้อตกลงตามมาตรการริเริ่มที่เชียงใหม่ (CMI) เพื่อขยายความร่วมมือจากระดับทวิภาคีสู่ระดับพหุภาคี และการขยายวงเงินจัดตั้งกองทุน เป็น 1.2 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของภูมิภาค สุดท้ายเป็นการหารือถึงแนวทางการขยายความร่วมมือในการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย (เอเซียบอนด์) และการขยายไปสู่ตลาดอื่นนอกภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ