นายกรณ์ จาติวณิช รมว.คลัง กล่าวแถลงร่วมผลการประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 วาระพิเศษ ว่า สมาชิกทุกประเทศเห็นพ้องร่วมกันว่าจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทุกประเทศจำเป็นต้องมีนโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง โดยเฉพาะการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องเป็นไปในทศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศในภูมิภาค และสร้างเสถียรภาพ
นอกจากนี้ในที่ประชุม ยังมีข้อตกลงที่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนตามมาตรการริเริ่มที่เชียงใหม่ (CMI) โดยการขยายวงเงินจัดตั้งจาก 80,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 120,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องประเทศในภูมิภาค โดยประเทศในกลุ่ม + 3 คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะส่งเงินสำรองระหว่างประเทศ เข้ากองทุนในสัดส่วน 80% ส่วนทีเหลือ 20% ประเทศอาเซียน 10 ประเทศ จะสมทบเข้ากองทุน ซึ่งส่วนนี้ 5 ประเทศเศรษฐกิจหลักของอาเซียน คือ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ มาเลเซีย จะส่งเงินมากกว่า 5 ประเทศขนาดเล็ก โดยยึดหลักการเดิมที่จะส่งเงินเข้ากองทุนในสัดส่วนที่เท่ากัน
"เรามี Reserve อยู่ในจำนวนที่สุงมาก และพร้อมที่จะส่งเงินเข้ากองทุน ซึ่งหากมองระยะสั้น กองทุน CMI มีผลต่อทุกประเทศในการลดความเสี่ยงจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากสภาพคล่อง ซึ่งเรื่องการตั้งกองทุนดังกล่าว จะมีการนำไปหารืออีกครั้งในการประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 ที่ บาหลี อินโดนีเซีย เดือน พ.ค.นี้" นายกรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง ของไทย มีความมั่นใจว่า การจัดตั้งกองทุน CMI นอกจากเป็นการดูแลสภาพคล่องของประเทศในอาเซียนแล้ว ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่น และความสัมพันธ์ของทุกประเทศในเอเซีย ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่มอาเซียน จะมีการนำผลการหารือในเวทีนี้ ยืนยันต่อการประชุมของประเทศกลุ่ม G20 เพื่อยืนยันถึงความร่วมมือของประเทศในกลุ่มอาเซียน และเชื่อว่า ประเทศเศรษฐกิจตะวันตก ที่กำลังประสบปัญหา คงจะมีการพึ่งพาเศรษฐกิจของเอเซียกันมากขึ้น และจะทำให้บทบาทของเอเซีย ในกลุ่ม G20 จะมีมากขึ้นกว่าอดีตแน่นอน
" มีข้อตกลงที่น่าจะเป็นประเด็นนำเสนอประเทศกลุ่ม G20 เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของเอเซียน และช่วยขับเคลื่อนแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น" รมว.คลัง กล่าว