สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)เผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ไตรมาส 4/51 ติดลบหนักถึง 4.3% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 52 ลงเหลือ -1 ถึง 0% จากที่ขยายตัวในระดับ 2.6% ในปี 51 ต่ำกว่าคาด
ทั้งนี้ เป็นผลจากทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ และความต้องการสินค้าภายในประเทศลดลงจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง รวมทั้งความล่าช้าของการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ชะลอตัวลงมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกกถดถอยมากกว่าที่คาดไว้ และส่งผลกระทบให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยหดตัวมากและเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกของปี ประกอบกับ สถาบันการเงินเข้มงวดในการขยายสินเชื่อ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจอยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่าภาคธุรกิจจะลดการผลิตและการจ้างงาน โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง และการเงิน
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จีดีพีประเทศในปี 52 จะอยู่ในระดับ 0% ไม่ถึงขั้นติดลบก็ยังมีอยู่หากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งหากมีกการเร่งรัดโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ก็จะเป็นอานิสงส์ให้ภาคเอกชนมั่นใจหันมาลงทุน และธนาคารจะมั่นใจในการปล่อยกู้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กลไกเศรษฐกิจเริ่มเดินได้
"โอกาสที่จีดีพีของไทยจะไม่ติดลบ หรือเป็น 0% ก็ยังมี ถ้าทำใน 4-5 มาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีเหตุการณ์ดังเช่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารบกวนเสถียรภาพเศรษฐกิจให้ติดลบ"นายอำพน กล่าว
*คาดเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดช่วง Q2-Q3/52 ก่อนฟื้นมาในแดนบวกช่วง Q4/52
สภาพัฒน์ ประเมินว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักในไตรมาส 1/52 โดยจีดีพีอาจจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงกว่าไตรมาส 4/51 เนื่องจากภาวะการค้าโลกหดตัวอย่างรุนแรง ภาคเอกชนมองเห็นแนวโน้มออร์เดอร์สินค้าปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม
ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะดิ่งลงถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/52 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3/52 ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นมาในแดนบวกได้ในช่วงไตรมาส 4/52 จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่รัฐบาลประกาศใช้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการอัดฉีดงบกลางปี 1.16 แสนล้านบาท รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษบกิจในระยะกลางและระยะยาวของรัฐบาล รวมถึงความช่วยเหลือด้านราคาสินค้าเกษตร
"ไตรมาส 4 ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทย ถ้าเราต้องใช้กำลังร่วมกันฉุดเศรษฐกิจไทยขึ้นจากหลุมเศรษฐกิจของโลกให้ได้ หวังว่าช่วง 7-8 เดือนต่อจากนี้ ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลและเอกชนต้องช่วยกันประคองเศรษฐกิจให้พ้นจากหลุมดำของเศรษฐกิจโลก"นายอำพน กล่าว
สำหรับปัจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี คือ การผลักดันการดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลให้มีความต่อเนื่องและเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง, การเร่งรัดการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการภายใต้กรอบงบประมาณประจำปีงบประมาณ 52 และการเตรียมความพร้อมให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2553 ได้ทันทีในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม, การเร่งดำเนินโครงการลงทุนสำคัญของภาครัฐภายใต้แผนการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาวให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้ และ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจการเงินโลกที่จะทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี
"ถ้า 4 ปัจจัยนี้ดำเนินการได้ อัตราการขยายตัวจะเป็นบวก และจะต่อเนื่องอีก 3 ไตรมาส ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ลงลึกไปกว่านี้"นายอำพน กล่าว
สภาพัฒน์ ระบุว่า การบริหารเศรษฐกิจในปี 52 เน้นการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและแผนการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาวโดยการใช้งบประมาณรายจ่ายรัฐบาลและการดำเนินโครงการภาครัฐเป็นปัจจัยนำ และดำเนินมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ การดูแลแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างงาน ให้มีสวัสดิการรองรับที่เหมาะสมและได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและจัดหางานใหม่
รวมทั้งการดูแลสาขา การผลิตและบริการที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และวางกลไกช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเผชิญราคาผลผลิตลดลงให้สามารถวางแผนการผลิตและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม