สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)เผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ไตรมาส 4/51 ติดลบหนักถึง 4.3% ทำให้ทั้งปี 51 ขยายตัวได้แค่ 2.6% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมว่าจะเติบโตได้ถึง 4.5%
ทั้งนี้ เป็นผลจากทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ และความต้องการสินค้าภายในประเทศลดลงจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง รวมทั้งความล่าช้าของการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง
จากภาวะดังกล่าวจึงส่งผลให้การผลิตของประเทศหดตัวในหลายสาขา โดยการผลิตสาขาอุตสาหกรรม ลดลง 6.8%, สาขาก่อสร้าง ลดลง 12.8% จากผลของความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง และการขยายสินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 2 ปีจากผลของราคาน้ำมัน, สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ลดลง 8.3% จากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงอย่างมาก
*ภาพรวมเศรษฐกิจปี 51 ยังแม้จะติดลบแต่เสถียรภาพในและต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี
สภาพัฒน์ ระบุว่าทั้งปี 51 เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 2.6% นับว่าเป็นการชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับในปี 50 ที่เศรษฐกิจไทยโต 4.9% และยังถือว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 นับตั้งแต่ปี 41 ที่เคยติดลบกว่า 10% ซึ่งทำให้มีแรงส่งลดลงไปมากในการที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ในภาพรวมถือว่าเศรษฐกิจปี 51 ยังมีเสถียรภาพทั้งภายในและภายนอก
เสถียรภาพในประเทศถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี เพียงแต่ต้องเฝ้าระวังเรื่องปัญหาการว่างงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งทั้งปี 51 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.4% แต่มีสัญญาณว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการผลิตและการลงทุนที่หดตัว ด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.5% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3.2% โดยเป็นการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 4.2% แต่การลงทุนด้านการก่อสร้างลดลง 0.2%
ด้านการส่งออกในปี 51 มีมูลค่า 175.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16.8% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 35% และสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 16.5% ขณะที่การนำเข้าทั้งปี 51 มีมูลค่า 175.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 26.4% ส่งผลให้ทั้งปี 51 ไทยยังเกินดุลการค้า 237 ล้านดอลลาร์
ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธ.ค.51 เท่ากับ 110.247 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 4.0-4.4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปี 51 ขาดดุลเพียง 178 ล้านดอลลาร์
ด้านภาวะการเงินในปี 51 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงไตรมาส 3/51 รวม 0.50% เนื่องจากเห็นว่ามีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก แต่ก็ได้ปรับลดลง 1% ในช่วงไตรมาส 4/51 เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจน จึงทำให้สิ้นเดือนธ.ค.51 อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 2.75%
ด้านการระดมทุนของภาคเอกชนมีมูลค่ารวม 1,231.91 พันล้านบาท ลดลงจาก 1,274.75 พันล้านบาท ในปี 50 โดย 96.4% เป็นการระดมทุนจากหุ้นกู้เอกชนซึ่งเป็นไปตามการลดลงของภาวะการลงทุนของประเทศโดยรวม
สำหรับความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันตลอดทั้งปี 51 พบว่าราคาน้ำมันมีความผันผวนตลอดทั้งปี โดยครึ่งปีแรกราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 75.1% ขณะที่ครึ่งปีหลังราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 6.7% เท่านั้น ส่งผลให้ทั้งปีราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 96.4 ดอลลาร์/บาร์เรล และมีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันดิบในปี 52 จะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น