Moody's Economy.com ซึ่งเป็นแผนกวิจัยเศรษฐกิจ การเงิน และอุตสาหกรรมของ Moody's Analytics ระบุในรายงานที่มีการเผยแพร่ในวันนี้ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มส่อเค้าย่ำแย่หนัก หลังจากที่วานนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไตรมาส 4/51 ติดลบหนัก 4.3% ขณะที่ผลผลิตก็หดตัวมากเกิดคาดถึง 22.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งบ่งชี้ว่าไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกรุนแรงที่สุดในเอเชีย
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจไทยดำดิ่งในไตรมาสสี่นั้น Alaistair Chan ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ระบุว่า มีอยู่หลายประการ ซึ่งรวมถึงความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และผลผลิตอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ลดลงจากต่างประเทศ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง ได้ถ่วงให้รายได้จากการส่งออกของไทยทรุดลงอย่างฮวบฮาบ
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสสี่ยังได้เกิดสถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย โดยเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลได้บุกเข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในกรุงเทพฯ ได้สร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยวของซึ่งเป็นแหล่งรายได้มหาศาลอันดับต้นๆของไทย เมื่อนักท่องเที่ยวยกเลิกการจองห้องพัก ขณะที่ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคก็ลดลง ด้านประชาชนก็ลดการใช้จ่าย และธุรกิจต่างๆลดการลงทุน นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติลังเลไม่กล้าเข้ามาลงทุนในประเทศด้วย
อย่างไรก็ดี นายชานมองว่า การที่ไทยได้รัฐบาลใหม่และสถานการณ์การเมืองที่ดูเหมือนจะเริ่มเข้ารูปเข้ารอยแล้ว อาจเป็นการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติบางส่วนกลับเข้ามาในประเทศอีกครั้ง แม้ว่าเรื่องดังกล่าวอาจจะยังดูเป็นเรื่องยากในตอนนี้เมื่อประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็เล็งเห็นถึงสภาพเศรษฐกิจอันเลวร้ายดังกล่าวและได้ผลักดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนการสร้างเสถียรภาพอุตสาหกรรมการเงิน กล่าวคือธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงใช้มาตรการลดดอกเบี้ยต่อไป แม้ว่าจะมีช่องว่างให้ลดดอกเบี้ยได้ไม่มาก เมื่อพิจารณาจากการที่ไทยไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยมากนักเมื่อครั้งที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมีแนวโน้มว่าแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.5% จากปัจจุบันที่ระดับ 2% ในการประชุมวันพุธนี้