นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ประเมินว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันพรุ่งนี้จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างแน่นอน โดคาดว่ากนง.อาจจะต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงแรงถึง 0.75-1% จากปัจจุบันอยู่ในระดับ 2% ซึ่งเป็นการลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะลดลงราว 0.25- 0.50% เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายยังมีความจำเป็นต่อไป แม้จะไม่ได้มีผลให้เกิดการกระตุ้นการลงทุน แต่สถานการณ์ขณะนี้การลดดอกเบี้ยจะช่วยชะลอไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงอย่างรุนแรง ด้วยการลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
นอกจากนี้ การที่ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในอัตราที่สูงจะช่วยกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงตามได้ง่าย แม้จะไม่ใช่การลดดอกเบี้ยในอัตราที่เท่าเทียมกัน เนื่องจากสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีอยู่สูง แต่ธนาคารพาณิชย์ก็คงจะต้องทยอยปรับลดดอกเบี้ยตามแน่นอน
"เรามองว่า กนง.อาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.75-1% เพราะขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า เศรษฐกิจ drop ลงมากกว่าที่เคยคาดไว้ แต่ผลจะเป็นอย่างไร คงต้องรอ กนง.ตัดสิน...การลดดอกเบี้ยมาก น่าจะช่วยให้แบงก์ปรับลดดอกเบี้ยตาม แต่ไม่ใช่ 1 ต่อ 1 เพราะสภาพคล่องแบงก์ยังมีสูง แต่การลดดอกเบี้ยนโยบายลงแรง จะช่วยให้แบงก์ตัดสินใจลดดอกเบี้ยง่ายขึ้น" นายเอกนิติ กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค สศค. เห็นด้วยกับประมาณการภาวะเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ที่ระบุว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/51 ติดลบถึง 4.3% ซึ่งอยู่ในสมมติฐานที่ สศค.ได้ประเมินไว้อยู่แล้ว
ขณะที่ปี 52 สศค.ก็ประเมินในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/52-ไตรมาส 2/52 จะยังติดลบต่อเนื่อง กว่าจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกอีกครั้งก็คงเข้าสู่ไตรมาส 4/52 เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมาใช้จะเริ่มเห็นผลอย่างเต็มที่ โดย สศค.จะมีการทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง เดือน มี.ค.นี้
"เราไม่แปลกใจที่ สภาพัฒน์ประกาศ จีดีพี Q4/51 ติดลบ 4.3% เพราะ model ที่เราทำไว้ก็ติดลบ 4% อยู่แล้ว และปี 52 มีโอกาสติดลบต่อเนื่องมีสูงใน 2 ไตรมาสแรก เนื่องจากเทียบจากฐานปี 51 ที่มีอัตราขยายตัวสูง ส่วนไตรมาส 3 ยังไม่แน่ใจว่าติดลบอีกหรือไม่ แต่ไตรมาส 4 เศรษฐกิจน่าจะกลับเป็นบวกได้ เพราะมาตรการต่างๆ เริ่มเห็นผลเต็มที่" นายเอกนิติ กล่าว
นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นขณะนี้รัฐบาลยังจำเป็นต้องใช้ทั้งมาตรการการเงินการคลังอย่างเต็มที่เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ และยังมีการเตรียมมาตรการเสริมรองรับ ทั้งการเตรียมเงินกู้จากต่างประเทศวงเงิน 70,000 ล้านบาท และความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต