ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 52 มีแนวโน้มติดลบ 1.5% ถึงขยายตัว 0.2% โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 1/52 ถึงไตรมาส 3/52 ดังนั้น คาดว่าจีดีพีครึ่งปีแรกจะติดลบ 2.7-4.3% แต่เป็นอัตราติดลบน้อยกว่าไตรมาส 4/51 ขณะที่แนวโน้มครึ่งปีหลัง คงขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก
เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้รุนแรงกว่าที่คาด เห็นได้จากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศจีดีพีของไทยในไตรมาส 4/51 หดตัวถึง 4.3% แรงกว่าที่หลายฝ่ายคาด สาเหตุสำคัญ มาจากการหดตัวของภาคการส่งออก
และการส่งออก ม.ค.52 ก็ยังหดตัวถึง 26.5% ยิ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจในไตรมาสถัดๆไป จะยังเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงขึ้น โดยความตกต่ำของภาคธุรกิจส่งออกหลักจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่การลดกำลังการผลิตและการจ้างงานในวงกว้าง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศไว้อาจช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/52 และไตรมาส 3/52 ได้ระดับหนึ่ง แต่หากเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกยังไม่พ้นภาวะถดถอยในปีนี้และการฟื้นตัวอาจข้ามไปถึงปี 53 จะยิ่งกดดันให้การส่งออกไทยอยู่ภายใต้ความถดถอยนานขึ้น
สำหรับกรอบบนของประมาณการเศรษฐกิจในปี 52 อยู่ภายใต้สมมติฐานที่รัฐบาลปัจจุบันมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศและสามารถผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความคืบหน้าได้พอสมควร เช่น โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้ที่มีรายได้น้อย โครงการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ว่าง และเศรษฐกิจต่างประเทศอาจเริ่มมีสัญญาณค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/51 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยวของไทยจะเร่งการผลิตและกิจกรรมการตลาดเพื่อขยายยอดขาย
และคาดว่าในช่วงที่อุปสงค์ของภาคเอกชนหดตัวลงทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน จะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศปรับลดลงรุนแรง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล แม้ว่าการส่งออกจะหดตัวสูงก็ตาม สำหรับกรณีเลวร้าย เป็นกรณีที่เศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกตกอยู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องยาวนานไปจนถึง Q4/52 ซึ่งจะยิ่งกดดันให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบยาวนานมากขึ้น
ภายใต้กรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ 1.5 ถึง บวก 0.2% คาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะขยายตัวในระดับต่ำ ติดลบ 0.2% ถึงบวก 0.3% ลดลงจากปี 51 ที่ขยายตัว 2.5% แม้จะได้รับผลกระตุ้นจากมาตรการระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่การบริโภคจะถูกกดดันจากปัญหาการว่างงาน การลงทุนโดยรวม คาดว่าอาจจะติดลบ 4-5.5% จากที่ขยายตัว 1.1% ในปี 51
การส่งออกอาจจะติดลบ 10-16% จากที่ขยายตัว 16.8% ในปี 51 เป็นการหดตัวรายปีที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ การนำเข้า ติดลบ 11.5-17% โดยมีแนวโน้มลดลงในอัตราที่มากกว่าการส่งออก เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ และการปรับลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ จึงส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,000-2,800 ล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,400-2,300 ล้านดอลลาร์ เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ1% ถึง บวก 1% และเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0-1%
เศรษฐกิจไทยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ยังต้องเผชิญผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน ขณะที่นโยบายการเงินและการคลังของทางการไทยอาจช่วยเยียวยาในเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาเกิดขึ้นภายนอกประเทศอันยากเกินจะควบคุม อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจึงอาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศและขยายการส่งออกได้มากเท่าช่วงเศรษฐกิจในสถานการณ์ปกติ
ทั้งนี้ บทบาทของรัฐบาลและมาตรการทางการคลัง จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง แม้รัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลัง แต่ภารกิจที่จำเป็นเร่งด่วนคือการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้คืบหน้าโดยเร็วเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ เร่งหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อเตรียมรองรับแรงงานที่จะว่างงานเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 1.28-1.52 ล้านคน เร่งผลักดันโครงการลงทุนของภาครัฐ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน
และอีกแนวทางที่อาจจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ คือการส่งเสริมรณรงค์ให้ประชาชนและภาคธุรกิจ หันมาอุดหนุนสินค้าไทยและเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพราะแต่ละปีคนไทยใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศประมาณ 180,000 ล้านบาท หากจูงใจให้หันมาท่องเที่ยวภายในประเทศเพียง 10% ก็จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว 18,000 ล้านบาท และรณรงค์ให้คนไทยปรับพฤติกรรมหันมาบริโภคและซื้อสินค้าไทยมากขึ้น จากที่เคยมีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ปีละ 450,000 ล้านบาท จะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศอย่างมาก