เครือซีพีแนะรัฐชูอุตฯเกษตร-อาหารสู้วิกฤติ ศก.หลังมองอาจติดลบมากกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 25, 2009 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) เสนอแนะว่า รัฐบาลควรจะเน้นการสนับสนุนธุรกิจด้านการเกษตรและอาหารที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวต่อไปได้ จากที่ประเมินว่าในปีนี้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)อาจจะต่ำกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ประเมินไว้

"อยากให้ภาครัฐมีมาตรการผลักดันและช่วยเหลือภาคการเกษตรและอาหาร ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ที่จะช่วยกู้ภาพเศรษฐกิจโดยรวม และการลงทุนด้านสาธารณูปโภคของภาครัฐ โดยควรจะเน้นการช่วยเหลือเกษตร เช่น ลงทุนด้านชลประทาน หรือช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหา รวมทั้งพัฒนาความรู้ให้แก่เกษตรกร"นายอาชว์ กล่าว

ส่วนมาตรการของภาครัฐที่ออกมาใช้ก่อนหน้านี้น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้บางส่วน แต่ควรจะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4/51 ที่เศรษฐกิจติดลบไปถึง 4.3%

นายอาชว์ คาดว่าปีนี้ GDP จะติดลบมากกว่าสภาพัฒน์ประเมินว่าจะติดลบ 0.8-1.0% โดยอาจจะติดลบในกรอบ -1 ถึง -4% ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ควรจะมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ หลังจากมาตรการของภาครัฐส่งผลประมาณในเดือน มี.ค.

"รัฐบาลสิงคโปร์ คาดว่าจีดีพีจะติดลบ 5% ฮ่องกงติดลบ 4% ของไทยก็ไม่น่าจะต่ำสุดในเอเชีย เพราะตั้วเลขที่สภาพัฒน์ประเมินถือว่า ต่ำเกินไป ซึ่งประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออก 70% น้อยกว่าสิงคโปร์ที่พึ่งพาการส่งออก 100% ดังนั้น จีดีพีเราคงจะต่ำกว่าสิงคโปร์ไม่มาก แต่ก็หวังว่ามาตรการที่รัฐออกมาจะช่วยได้" นายอาชว์ กล่าว

นายอาชว์ มองว่า หากเศรษฐกิจไทยติดลบถึง 4% จะทำให้มีคนตกงานถึง 1.5 ล้านคน แต่หากรัฐบาลมีมาตรเสริมออกมารองรับก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบเพียง 1-2% และมีคนตกงานราว 1 ล้านคน ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการเกษตร การท่องเที่ยวและธุรกิจ SMEs

นายอาชว์ มองว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี ส่วนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่น่าจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนักเพราะเชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรง และการเมืองเริ่มคลี่คลายแล้วต่างจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันนี้ คาดว่า กนง.ปรับลดดอกเบี้ย แต่มองว่าไม่ว่าจะปรับลดดอกเบี้ยเท่าไรก็ตาม ก็ไม่ได้ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเอกชนไม่กล้าลงทุน ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยกู้ ขณะที่ ภาวะเศรษฐกิจของโลกยังอยู่ในภาวะวิกฤติต่อเนื่อง น่าจะส่งผลต่อ Real Sector โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์น่าจะมีปัญหาต่อเนื่อง และลุกลามมายังประเทศญี่ปุ่น และอาจจะมาถึงในประเทศไทยในเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ