นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2552 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีการปรับเพิ่มวงเงินรวม 117,691 ล้านบาท
ส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในส่วนของวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และวงเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อจัดหาเงินทุนสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการปรับเพิ่มวงเงินกู้ในส่วนของรัฐวิสาหกิจเพื่อดำเนินโครงการลงทุนและเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงาน ทำให้วงเงินแผนการบริหารหนี้สาธารณะภายหลังการปรับปรุงเพิ่มขึ้นจาก 1,195,192 ล้านบาท เป็น 1,312,883 ล้านบาท
ทั้งนี้ แยกเป็น การบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐบาล เพิ่มจาก 513,576 ล้านบาท เป็น 603,619 ล้านบาท, การบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้ FIDF จำนวน 218,191 ล้านบาทเท่าเดิม, การบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ เพิ่มจาก 284,839 ล้านบาท เป็น 325,719 ล้านบาท, การก่อหนี้จากต่างประเทศ เพิ่มจาก 81,563 ล้านบาท เป็น 114,563 ล้านบาท และการบริหารหนี้ต่างประเทศ ลดจาก 97,023 ล้านบาท เป็น 50,791 ล้านบาท
สบน.ระบุว่า ผลจากการดำเนินการตามแผนฯ จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 52 เพิ่มขึ้นเป็น 42.73% และภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ระดับ 10.20% ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนด คือ หนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกิน 50% และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15%
อย่างไรก็ตาม ในการเสนอครม.สัปดาห์หน้าเพื่ออนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 52 วงเงิน 1,312,883 ล้านบาทนั้น จะมีวงเงินสำรองเพื่อใช้ในการบริหารหนี้อีก 80,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้วงเงินที่นำเสนอ ครม.เป็นวงเงินรวมที่ 1.4 ล้านล้านบาท
ผู้อำนวยการ สบน. ยังกล่าวถึงการชำระคืนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินว่า จากการที่ปัจจุบันรัฐบาลมีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ย จากหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ปีละ 70,000 ล้านบาท โดยจัดสรรจากเงินงบประมาณ หากรัฐบาลและธปท.สามารถมีข้อตกลงร่วมกันได้ในการช่วยลดภาระดังกล่าวจะเป็นผลดีที่ทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณส่วนนี้ นำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น และจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ลดลงถึง 1 ใน 3 ของหนี้ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลังบริหารหนี้สาธารณะได้คล่องตัวมากขึ้นด้วย
"เรื่องดังกล่าวคงเป็นการตัดสินใจในระดับนโยบาย ซึ่งหาก รัฐบาล และ แบงก์ชาติ ตกลงกันเรื่องนี้ได้ก็เป็นสิ่งที่ดี"ผู้อำนวยการ สบน. กล่าว