คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ(กบส.)ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานการประชุม อนุมัติกรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้นในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ช่วงปี 52-56 ประมาณ 676,065 ล้านบาท สำหรับลงทุนใน 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย พ.ศ.52-54 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้กรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะกลาง
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบ 5 ยุทธศาสตร์ คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในภาคการผลิต, การเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งโลจิสติกส์, การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์, การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนากำลังคน และข้อมูลให้มีความคืบหน้าไปได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาระยะสั้นของธุรกิจการให้บริการโลจิสติกส์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวของภาคการส่งออกในปัจจุบัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเตรียมมาตรการรองรับแก่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ โดยเฉพาะกับเอสเอ็มอีในเรื่องสภาพคล่อง การรักษาสถานภาพการจ้างงาน และการผึกอบรมเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ,
เร่งรัดการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่น การก่อสร้างทางคู่ เส้นทางสายตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง การจัดหาหัวรถจักร 7 คันและแคร่บรรทุกสินค้า 308 คัน การก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนและจัดตั้งระบบ NSW เป็นต้น,
เร่งรัดโครงการลงทุนใหม่ที่อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ในเส้นทางที่มีการขนส่งหนาแน่น การบูรณะ บำรุงเส้นทางเดินรถไฟ ก่อสร้าง ICD พัฒนาทาเทียบเรือชายฝั่ง พัฒนาโครงข่ายทางหลวงและ มอร์เตอร์เวย์ และพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นต้น และการปรับปรุงด้านการบริหารจัดการ กฎระเบียบ บุคลากรและระบบข้อมูลโลจิสติกส์
สำหรับการดำเนินโครงการลงทุนใหม่นั้นจะต้องพิจารณาตามลำดับความสำคัญของโครงการทีมีหลักการพิจารณาคือ จะต้องเป็นโครงการที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์และการสนับสนุนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, เป็นโครงการที่มีความพร้อมและสามารถที่จะดำเนินการได้ทันที และเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานและการใช้วัตถุดิบวัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่
ที่ประชุมฯ ยังรับทราบดัชนีโลจิสติกส์ในปี 50 ของธนาคารโลก ซึ่งได้ประเมินใน 7 ด้านพบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 31 จาก 150 ประเทศ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 1 และ 27 โดยในปี 50 ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยอยู่ในระดับ 18.9% ต่อ GDP ซึ่งยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งอยู่ในระดับ 9-11 ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรพิจารณาองค์ประกอบต้นทุนโลจิสติกส์ในรายละเอียดและเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เพื่อให้ทราบว่าต้นทุนส่วนใดของไทยที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ