"ไกธ์เนอร์"ประสานเสียง"เบอร์นันเก้" ย้ำรัฐบาลไม่จำเป็นต้องฮุบกิจการแบงค์พาณิชย์เป็นสมบัติของชาติ

ข่าวต่างประเทศ Thursday February 26, 2009 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ แสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกับเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาในตลาดการเงินและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วยการรวบกิจการธนาคารพาณิชย์มาเป็นสมบัติของชาติ

"การรวบกิจการธนาคารพาณิชย์มาเป็นสมบัติของชาติถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องสำหรับสหรัฐอเมริกา และผมคิดว่ายุทธศาสตร์นี้ไม่จำเป็นสำหรับประเทศเรา" ไกธ์เนอร์กล่าวให้สัมภาษณ์ทางรายการ “The News Hour with Jim Lehrer"

กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศแผนทดสอบความสามารถในการรักษาฐานะทางการเงิน (stress test) ของ 19 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ภายในประเทศ รวมถึง ซิตี้กรุ๊ป, อเมริกัน เอ็กซ์เพรส และโกลด์แมน แซคส์ เพื่อประเมินว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีเงินทุนเพียงพอที่จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลาง (FDIC) เข้าร่วมตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย

ไกธ์เนอร์กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์สามารถยอมรับแผนการลงทุนหรือความพยายามของรัฐบาลที่เปิดทางให้ธนาคารระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ไกธ์เนอร์เชื่อว่าแผน stress test จะช่วยขจัดความไม่แน่นอนที่ปกคลุมอยู่ในระบบการเงินของสหรัฐได้

นอกจากนี้ ไกธ์เนอร์กล่าวว่า นักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีทที่มีมุมมองในแง่ลบต่อมาตรการให้ความช่วยเหลือภาคการธนาคารนั้น ควรจะปรับเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ โดยให้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก

เบอร์นันเก้ย้ำจุดยืนในระหว่างแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ว่า รัฐบาลไม่ควรยึดกิจการธนาคารพาณิชย์มาเป็นสมบัติของชาติ รวมถึงธนาคารยักษ์ใหญ่อย่างซิตี้กรุ๊ป

"การยึดธนาคารพาณิชย์เป็นสมบัติของชาติ หมายถึงการที่รัฐบาลรวบสินทรัพย์และการบริหารจัดการมาเป็นของรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ และไม่เปิดทางให้ผู้อื่นเข้ามาถือหุ้น ซึ่งผมเห็นว่ารัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น แต่มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเข้าไปถือหุ้นส่วนน้อยในธนาคารรายใหญ่อย่างซิตี้กรุ๊ปหรือธนาคารรายอื่นๆ โดยเฉพาะในกรณีของซิตี้กรุ๊ปนั้น เราควรจะรอดูผลการทดสอบ stress test เสียก่อน" เบอร์นันเก้กล่าว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ