นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีโอกาสจะติดลบมากกว่าไตรมาส 4/51 ซึ่งอยู่ที่ระดับ -4.3% สอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
ผอ.สศค. มองว่า จากสัญญาณเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.52 การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกและการนำเข้าทรุดตัวลงมาก จึงเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/52 จะติดลบมากกว่า 4.3%
"บอกได้เลยว่าเศรษฐกิจปี 52 ไม่ดี แต่เราต้องส่งสัญญาณล่วงหน้า หากเศรษฐกิจไม่ดีอย่างที่คิด ก็ต้องเตรียมการล่วงหน้า โดยเฉพาะมาตรการรองรับการว่างงาน" นายสมชัย ระบุ
สำหรับเศรษฐกิจปีนี้จะส่งผลกระทบต่อภาค Real Sector เป็นหลัก ดังนั้นเห็นว่ารัฐบาลจะต้องมีมาตรการรองรับด้านแรงงาน ดูแลการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาค Real Sector ไปสู่ภาคแรงงานที่สามารถรองรับแรงงานที่ตกงานได้ โดยมองว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และสิ่งทอยังมีศักยภาพและความต้องการด้านแรงงานอยู่ แต่รัฐบาลจะต้องวางมาตรการเพื่อช่วยเหลือ เช่น จัดโครงการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำไปมากกว่านี้
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค สศค.กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.52 ติดลบ 4% มาจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดืม รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แต่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดต้องพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาน้ำมันและอาหาร
แต่ยอมรับว่าคงต้องจับตามมองในเรื่องดังกล่าว เพราะหากเศรษฐกิจหดตัวต่อไปก็มีโอกาสที่จะเกิดเงินฝืดได้ โดยภาวะเงินฝืดจะเกิดจากการที่ผู้ประกอบการลดราคาสินค้าลดลง เนื่องจากความต้องการในตลาดลดลงและการลดราคาสินค้าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีกำไรน้อยลงหรือขาดทุนได้ และส่งผลต่อการจ้างงาน ที่อาจต้องเกิดภาวะการเลิกจ้างได้ต่อไป
"ภาวะเงินฝืด ตามมาตรฐานสากลไม่มีใครบอกได้ชัดว่าจะเกิดจากอะไร แต่ สศค.มองว่าเงินฝืดต้องดูจากเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งจะสะท้อนการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศมากกว่า ตอนนี้ยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด แต่ยอมรับว่าต้องจับตามอง หากเศรษฐกิจหดตัวต่อไป" นายเอกนิติ กล่าว
สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีก 0.50%วานนี้ เชื่อว่า กนง.ยังจะต้องมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก โดยขณะนี้ภาคการเงินมีบทบาทต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่านโยบายการคลัง แต่นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความจำเป็นต่อไป เพราะการลดดอกเบี้ยเป็นการลดภาระของภาคเอกชน ประชาชน และยังเป็นการป้องกันการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ(NPL)ของภาคการเงินด้วย นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดภาระการกู้เงินของรัฐบาล