(แก้ไข) ม.หอการค้าฯ เผยเศรษฐกิจทรุดทำหนี้ครัวเรือนพุ่ง 27.88% สูงสุดในรอบ 5 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 26, 2009 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนระหว่างวันที่ 18-23 ก.พ.52 ว่า ขนาดหนี้ครัวเรือนรวมในเดือน ก.พ.มีทั้งสิ้น 2,624,181 ล้านบาท คิดเป็นเฉลี่ยครัวเรือนละ 143,476 บาท เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อ ส.ค.51 ที่มีหนี้ 135,166 บาท/ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 บาท โดยสัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)เพิ่มเป็น 27.88% มากที่สุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 47 ที่มีสัดส่วนหนี้อยู่ที่ 29.87%

ประชาชนส่วนใหญ่ ระบุว่ามีปัญหาในการชำระหนี้แล้วเพิ่มขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม ถูกนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 46.54% เพื่อสุขภาพ 21.47%% ค่าพาหนะ 17.57% ลงทุน 8.04% และค่าที่อยู่อาศัย 6.15% แยกเป็นหนี้ในระบบ 45.59% หนี้นอกระบบ 29.12% และหนี้ทั้งในและนอกระบบ 25.29% แต่แนวโน้มการก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นมากกว่าการก่อหนี้ในระบบ

"สิ่งที่น่าห่วงคือ ประชาชน 59.76% ระบุว่ามีหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้ แต่มีเพียง 19.70% ที่มีหนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้ และที่เหลือมีหนี้พอๆ กับรายได้ แม้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่ 28% ยังไม่ใช่เรื่องอันตราย และยังไม่เป็นปัญหาระดับชาติ แต่น่าเป็นห่วงขึ้นเรื่อยๆ" นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ภาระหนี้ประชาชนที่เพิ่มขึ้นเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มแย่ลง จากจีดีพี Q4/51 ติดลบ 4.3% มีคนตกงาน 700,000 คน หนี้ครัวเรือนยังเพิ่มถึง 8,000 บาท และหากจีดีพีติดลบจนถึง Q3/52 จะทำให้คนตกงานเพิ่มเป็น 1.2-1.3 ล้านคน และคาดว่าหนี้ต่อจีดีพีจะเพิ่มถึง 29-30% จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ โดยเฉพาะเดือนมิ.ย.-ก.ค.ที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้นช่วงเปิดภาคเรียนและมีปัญหาการคนตกงานมาก

"หนี้ครั้งนี้ มีสัญญาณน่ากลัวกว่าปี 47 เพราะตอนนี้คนชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องกู้เพื่อใช้จ่าย ต่างจาก 5 ปีก่อนที่คนกู้เพื่อใช้ลงทุนผ่านกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประชาชนที่เผชิญปัญหาหนี้สินมากที่สุดคือ ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน เพราะมีหนี้สูงกว่ารายได้ และเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบน้อย ทำให้ส่วนใหญ่ต้องหันไปกู้นอกระบบผ่านนายทุน บุคคลรู้จัก โรงรับจำนำ ซึ่งถูกเก็บดอกเบี้ยสูงและเสี่ยงจะถูกตามทวงหนี้โหด

สำหรับผลสำรวจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 39.5% ยังมีความเชื่อมั่นน้อย และพบว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ทำให้คนใช้จ่ายมากขึ้นโดย ความเห็นส่วนใหญ่ 50.3% จะใช้จ่ายเท่าเดิม ส่วน 31.6% ใช้จ่ายเพิ่ม และอีก 17.4% ใช้จ่ายน้อยลง

ส่วนความพอใจต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อย และประโยชน์ที่จะได้รับน้อยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะมาตรการแจกเงิน 2,000 บาท ที่คนเข้าถึงมีเพียง 30.9% แต่ไม่ได้รับ 69.1% ในจำนวนนี้คนที่ได้รับเงินยังเห็นว่าช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายน้อยเพียง

ส่วนมาตรการที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งดูแลคือ การหาแหล่งเงินกู้ให้ผู้มีรายได้ต่ำผ่านโครงการธนาคารประชาชน, กองทุนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อลดการก่อหนี้นอกระบบ เพราะประชาชนจะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยแพง และเสี่ยงมีปัญหาสังคมเพิ่มตามมา

ขณะเดียวกันจะต้องเร่งรัดการใช้จ่ายเงินผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อกระจายเม็ดเงิน และสร้างงานให้เกิดขึ้นในชุมชน รวมถึงเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ ตลอดจนการค้าชายแดน อย่างไรก็ตามแนวโน้มคนจะใช้จ่ายลดลง เพราะสินค้าแพง รวมถึงกังวลปัญหาเศรษฐกิจทำให้มีการออมเงินเพิ่มขึ้น



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ