สหรัฐเผยแบงก์พาณิชย์ในปท.ประสบภาวะขาดทุน Q4/51 เป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี

ข่าวต่างประเทศ Friday February 27, 2009 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลาง (FDIC) รายงานว่า ภาคธุรกิจธนาคารของสหรัฐมีตัวเลขขาดทุนสุทธิที่ 2.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 ซึ่งนับเป็นตัวเลขขาดทุนรายไตรมาสครั้งแรกตั้งแต่ปี 2533

ตัวเลขขาดทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากอัตราการทำธุรกรรมที่ลดลง ประกอบกับการปรับลดมูลค่าทางบัญชี ที่ล้วนส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมียอดขาดทุนสุทธิรายไตรมาสเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารยังคงต้องปรับดุลบัญชีเพื่อกระตุ้นการทำกำไรให้ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่ากว่า 2 ใน 3 ของสถาบันการเงินทั้งหมดจะสามารถเก็บเกี่ยวผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 4 ได้ก็จริง แต่ผลประกอบการดังกล่าวถูกบดบังจากตัวเลขขาดทุนของธนาคารยักษ์ใหญ่หลายแห่ง

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.079 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.5% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยเงินฝากของธนาคารในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ 2.741 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

เชียร่า แบร์ ประธานของ FDIC กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบธนาคารและการรับประกันเงินฝากนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตราเงินฝากภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะผู้บริโภคเห็นว่าการฝากเงินกับสถาบันรับประกันเงินฝากเป็นช่องทางการลงทุนที่ปลอดภัยในยามที่สถานการณ์ตลาดเงินไร้ซึ่งเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 สถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐมีรายได้ 1.61 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลง 83.9% จากปี 2550 และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2533

ขณะเดียวกัน ทาง FDIC ระบุว่า สถาบันรับประกันเงินฝากที่ประสบปัญหาจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 171 แห่ง เป็น 252 แห่งซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2538 ขณะที่มูลค่าของสินทรัพย์ในสถาบันที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.156 แสนล้านดอลลาร์ เป็น 1.59 แสนล้านดอลลาร์อันเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตการเงินที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ