ฟิทช์ มองความไม่แน่นอนปรับค่า FT-การลงทุนสูงเป็นความเสี่ยงธุรกิจไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 27, 2009 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่าแนวโน้มเครดิตของธุรกิจไฟฟ้าของประเทศไทยในปี 2552 มีเสถียรภาพ สะท้อนถึงการแข่งขันในธุรกิจที่จำกัด โครงสร้างและกฎระเบียบของกิจการไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ และการถือหุ้นและการให้การสนับสนุนของภาครัฐต่อธุรกิจไฟฟ้าในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในการปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคในเวลาที่เหมาะสมและการลงทุนที่อยู่ในระดับสูงในอนาคต ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรม

การที่รัฐบาลยังคงเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สนับสนุนอันดับเครดิตของธุรกิจไฟฟ้าไทย นอกจากนี้เนื่องจากธุรกิจไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญในการสนองนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาประเทศ ฟิทช์คาดว่ารัฐบาลจะยังคงเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของกิจการไฟฟ้าต่อไป รวมถึงเป็นผู้อนุมัติแผนการลงทุนและให้การสนับสนุนทางอ้อมแก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจไฟฟ้า

ในรายงานยังกล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนการดำเนินงานและการลงทุนของผู้ประกอบการซึ่งสามารถส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้ แต่การปรับอัตราค่าไฟฟ้าในแต่ละครั้งยังคงถูกควบคุมโดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) การที่อัตราค่าไฟฟ้าไม่สามารถถูกปรับให้เป็นไปตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัตินั้น อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการไฟฟ้า โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.

ฟิทช์ยังกล่าวอีกว่า อัตราส่วนกำไรขั้นต้นและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ กฟผ. น่าจะปรับตัวลดลงในปี 2551 เนื่องจาก กกพ. ได้กำหนดให้ กฟผ. แบกรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นตามค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน อย่างไรก็ตามผลกระทบดังกล่าวน่าจะลดลงในปี 2552 เนื่องจากแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 และฟิทช์คาดว่า กกพ. จะอนุมัติให้คงหรือปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อชดเชยภาระค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. ต้องแบกรับในปี 2551

ในทางตรงข้าม ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของจากราคาเชื้อเพลิงและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่น้อยมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับ กฟผ. ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสามารถส่งผ่านค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไปยังราคาขายไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ายังมีการกำหนดเงื่อนไขปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ ซึ่งทำให้ให้รายได้ของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนมีเสถียรภาพ

การลงทุนของ กฟผ. จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2550-2554 (PDP 2007) กฟผ. มีแผนการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบสายส่งไฟฟ้าประมาณ 2.2 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2551-2554 หรือประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งสูงกว่าเงินลงทุนในช่วงปี 2548-2550 ซึ่งอยู่ที่ 1.6-2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตามเนื่องจากกำลังผลิตสำรองของระบบได้ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2551 ประกอบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงในปี 2552 กฟผ. อาจจะชะลอแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางโครงการออกไป และพิจารณาปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ