R&I ยืนระดับเครดิตตราสารหนี้ของไทย พร้อมคาดแนวโน้มเครดิตยังเป็นลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 27, 2009 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการจัดระดับเครดิต (Rating Committee) ได้ยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Issuer Rating) ที่ระดับ BBB+ และยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Short Term Credit Rating) ที่ระดับ a-2 โดยมีแนวโน้มของเครดิตในระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) พร้อมทั้งยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Domestic Currency Issuer Rating)ที่ระดับ A-

ทั้งนี้ R&I ยืนยันระดับเครดิตดังกล่าวจากเหตุผลต่างๆ ดังนี้ เนื่องจาก การขาดเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศของประเทศไทย ซึ่งส่งสัญญาณว่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 50 และเป็นปัจจัยสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 51 ได้ถูกบั่นทอนลงไป

ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 51 หดตัว 4.3% และในปี 51 เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 2.6% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนคนว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิตและการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด อันเนื่องมาจากความเสื่อมถอยลงของความเชื่อมั่นที่มีต่อภาคธุรกิจและสภาพแวดล้อมในการลงทุน ซึ่งคาดว่า GDP ปี 52 จะอยู่ที่ประมาณ 0% หรือติดลบ

นอกจากนี้ยังมีผลจากการชะลอตัวลงของอุปสงค์ด้านต่างประเทศของประเทศไทย รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินของประเทศ เพื่อที่จะเร่งอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย เนื่องจากเห็นว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนอุปสงค์สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอายุการใช้งานนานและการลงทุน แม้ว่าเป็นการยากที่จะคาดการณ์เกี่ยวกับความมีเสถียรภาพของการจ้างงาน

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความหวังว่าภาคการบริโภคจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แต่หากความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศโดยการปรับลด

อัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายอาจจะต้องพิจารณาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 และพยายามที่จะดำเนินมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการจัดทำงบประมาณขาดดุลคิดเป็น 3.9% ของ GDP โดยหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ระดับ 37% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย ทำให้รัฐบาลสามารถที่จะเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐได้โดยไม่กระทบต่อความยั่งยืนทางการคลัง

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าความมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 51 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่ความยุ่งเหยิงทางการเมืองยังคงมีอยู่ ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ยังคงยืดเยื้อต่อไป รัฐบาลอาจไม่สามารถดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก

นอกจากฐานะการคลังและด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งแล้ว ประเทศไทยยังคงมีความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานด้านอุตสาหกรรมที่เปิดกว้าง ซึ่งรวมถึงการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค และความมีเสถียรภาพทางด้านสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าความยุ่งเหยิงทางการเมืองจะยืดเยื้อมาหลายปี แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก

"การทบทวนผลการวิเคราะห์เครดิตของประเทศไทยในครั้งนี้ R&I เห็นว่า ระดับเครดิตของประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้ความกดดันในทิศทางที่เป็นลบ จึงยังคงแนวโน้มของเครดิตในระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook)" นายพงษ์ภาณุ กล่าว

เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มของรายได้จากการเก็บภาษีที่คาดว่าจะลดลงและมาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะขาดดุลทางการคลังมากไปกว่าที่เคยประมาณการไว้ และหากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจัยที่จะเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะปานกลางถึงระยะยาวให้กลับมาอีกครั้ง คือการลดความแตกต่างทางด้านรายได้ของประชาชนเป็นสำคัญ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ