นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมตรี คาดในไตรมาส 4/52 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว และจีดีพีจะเป็นบวกได้ หลังยอมรับจีดีพีในไตรมาส 1/52 คงติดลบรุนแรงใกล้เคียงกับไตรมาส 4/52 ที่จีดีพีติดลบ 4.3% และในไตรมาส 3/52 จะชะลอการหดตัวของเศรษฐกิจได้ หลังจากการที่รัฐบาลได้ประเมินสถานการณ์จากตัวเลขการส่งออก และการค้าระหว่างประเทศ หดตัวอย่างรุนแรง
"เราจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ในปีนี้ ผมได้ประเมินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจใน3 เดือนแรกของปีนี้อาจจะติดลบและอาจจะติดลบรุนแรงเท่ากับหรืออาจจะมากกว่าใน 3 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว ที่ติดลบร้อยละ 4.3 จากนั้นเรามั่นใจมาตรการที่เราได้ดำเนินการตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการ 2 พันบาท การใช้จ่ายหมุนเวียนจะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 การหดตัวน่าจะลดลง แล้วเราจะประเมินอีกครั้ง ในไตรมาส 3 ว่าจะสามารถทำให้เศรษฐกิจกลับมายืนอยู่ในภาวะไม่เติบโต หรือไม่หดตัว ก่อนที่ไตรมาสที่ 4 ซึ่งเราตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถทำให้เศรษฐกิจมาขยายในแดนบวกได้อีก"นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ"เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์" เช้านี้
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่ามาตรการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ โครงการเรียนฟรี มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจำนวน 2,000 บาท ให้กับผู้ที่มีฐานเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท จะสามารถทำให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 อีกทั้งโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะเริ่มจ่ายได้ในวันที่ 15 มี.ค. 52 พร้อมยืนยันจะจ่ายเบี้ยดังกล่าวให้ตลอดไปไม่ใช่ 6 เดือนตามที่เป็นข่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ประเมินตัวเลขต่างๆทั้งในแง่ผลกระทบการส่งออก และการท่องเที่ยว เบื้องต้น รัฐบาลประเมินว่าการใช้งบประมาณเพิ่มเติม กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไปจนถึงการเตรียมการใช้จ่ายงบประมาณปีหน้า นั้นยังไม่พอ เพราะฉะนั้น รัฐบาลได้เตรียมแผนสำรองไว้ คือการกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นโครงการที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะมีความจำเป็น ชัดเจนแล้วในขณะนี้ ขั้นตอนต่อไปคือ กระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับความเห็นชอบ ในเชิงหลักการให้ไปเจรจาเงินกู้ ก็จะเร่งนำกรอบการเจรจาเงินกู้เข้าสู่การพิจารณารัฐสภา
"ตั้งเป้าไว้ว่าถ้ารัฐสภาเห็นชอบ แล้วก็นำไปสู่การเจรจา เราก็จะมีเงินอีกก้อนซึ่งพร้อมที่มาใช้จ่าย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นตรงนี้ ผมคิดว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่รัฐบาล กำลังจะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ความเสียหายจากวิกฤตเศรษฐกิจ"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
พร้อมยืนยันว่าการกู้เงินจากต่างประเทศจะไม่สร้างภาระ และไม่หลุดจากกรอบนโยบายการเงินการคลัง ซึงรัฐบาลจะรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยืนยัน รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ของกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ทุกอย่างดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตรงไปตรงมา พร้อมเชื่อจะเห็นถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่าง ๆ ก่อนจะมีการเคลื่อนไหวชุมนุมอีกครั้งใน 1 เดือนข้างหน้า
โดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะขอให้สถาบันพระปกเกล้าเข้ามาเป็นตัวกลางในเรื่องนี้ ขณะนี้กรรมการสภาสถาบันฯก็จะประชุมประมาณวันที่ 6 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะ ซึ่งก็จะทำให้เป้าหมายการปฏิรูปการเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น ฝ่ายค้านได้เตรียมที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประมาณกลางเดือนมีนาคม และคาดว่าการอภิปรายจะเริ่มประมาณปลายเดือนมีนาคมนี้ ส่วนข้อยุติจะเป็นอย่างไร อยู่ที่กระบวนการทางรัฐสภา ทั้งนี้ คิดว่าหากรักษาบรรยากาศของบ้านเมืองให้กระบวนการทางการเมืองเดินหน้าต่อไปอย่างนี้ รัฐสภาก็ทำหน้าที่ไป ประชาชนก็ใช้สิทธิเคลื่อนไหวภายใต้รัฐธรรมนูญในกรอบของกฎหมาย ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
ส่วนปัญหาทางด้านสังคมนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้จัดการประชุมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติด และเร็ว ๆ นี้ ก็จะสามารถประกาศมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมได้