อาเซียนเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นรับมือวิกฤติศก.,สร้างความมั่นคงอาหาร-พลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 1, 2009 13:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงหลัง ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้ลงนามในปฎิญาชะอำ-หัวหินว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ปี 2009-2015 ซึ่งประกอบด้วย ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ได้มอบหมายให้รัฐมนตรี และเลขาธิการอาเซียนหาลู่ทางและยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ขับเคลื่อนทรัพยากรต่างๆจากรัฐสมาชิก ประเทศคู่เจรจาเฉพาะด้านเพื่อการพัฒนาของอาเซียนและทำให้ปฏิญาชะอำ-หัวหินฉบับนี้เกิดประสิทธิผลทางการและยั่งยืน

ในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ได้มีการหารือเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินของโลก โดยผู้นำทั้ง 10 ประเทศมีความเห็นตรงกันที่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกและเด็ดขาดในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดและความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งผู้นำยินดีที่จะดำเนินนโยบายมหภาครวมถึงมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน การปล่อยสินเชื่อเพื่อการค้าโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ

นอกจากนี้ยังยืนยันความตั้งใจที่จะเพิ่มการไหลเวียนของสินค้าบริการและการลงทุน อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจของผู้ประกอบการและการไหลเวียนจองทุนให้เสรียิ่งขึ้น

ขณะที่ผู้นำอาเซียน ต่อต้านนโยบายการปกป้องการค้าและละเว้นการกำหนดมาตรการการกีดกันการค้าใหม่ๆ พร้อมสนับสนุนให้มีการเจรจาเพื่อพัฒนารอบโดฮาให้เกิดผล

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมผูนำอาเซียนได้ชื่นชมรมว.คลังอาเซียนบวก 3 ต่อการประชุมรมว.คลังบวก 3 ที่ให้เพิ่มขนาดกองทุนสำรองพหภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่จาก 8 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 1.2 แสนล้านดอลลร์ รวมถึงตระหนักความร่วมมือในภูมิถาคที่จำเป็นต้องมีการขยายเพื่อระดมเงินออมสำหรับการลงทุนในสาขาที่มีประสิทธิผลโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ผู้นำยินดีกับแผนงานการพัฒนามาตรการริเริ่มเพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียฉบับใหม่ นอกจากนี้ ผู้นำก็ได้ขอให้รมว.คลังอาเซียนจัดเตรียมประเด็นเพิ่มเติมสำหรับประธานอาเซียนในฐานสมาชิก จี 20 เพื่อนำไปแจ้งต่อที่ประชุมสุดยอด จี 20 ที่กรุงลอนดอน

ทางด้านความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน กลุ่มผู้นำอาเซียนได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะกระชับความร่ทวมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ทั้งภาคการผลิตและการจัดจำหน่าย โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองข้าวของกลุ่มอาเซียนกับประเทศบวก สาม เพื่อเป็นกลไกถาวรในภูมิภาคต่อไป ส่วนด้านพลังงาน ได้เน้นกระชับความร่วมมือในพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก รวมทั้งเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเห็นว่าจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนร่วมกับพลังงานอื่นในสัดส่วนที่มากขึ้น และเรียกร้องให้รมว.พลังงานอาเซียนกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณของพลังงานทดแทนร่วมกับพลังงานอืนภายใน 5 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ