(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.พ.52 ลดลง 0.1%, Core CPI เพิ่มขึ้น 1.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 2, 2009 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)ในเดือน ก.พ.52 อยู่ที่ 103.1 ลดลง 0.1% จากเดือน ก.พ.51 แต่เพิ่มขึ้น 1.0% จากเดือน ม.ค.52 และเฉลี่ยช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.พ.52) ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ก.พ.52 อยู่ที่ระดับ 102.8 เพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือน ก.พ.51 และเพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือน ม.ค.52 และเฉลี่ยช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.พ.52) เพิ่มขึ้น 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับดัชนีสินค้าหมวดอาหารในเดือน ก.พ.52 อยู่ที่ 114.6 เพิ่มขึ้น 9.1% จากเดือน ก.พ.51 แต่ลดลง 0.3% จากเดือน ม.ค.52 ขณะที่ดัชนีสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารในเดือน ก.พ.52 อยู่ที่ 95.6 ลดลง 6.4% จากเดือน ก.พ.51 แต่เพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือน ม.ค.52

ทั้งนี้ CPI เดือนก.พ.52 เมื่อเทียบกับม.ค.52 สูงขึ้น 1.0% มีสาเหตุสำคัญจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับในเดือน ก.พ.52 รัฐบาลได้ปรับมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน สำหรับค่าไฟฟ้าและน้ำประปาใหม่ลดการอุดหนุนลง ส่งผลให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากมาตรการเดิม รวมทั้ง ราคาอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ ปลา และสัตว์น้ำ ผลไม้สด และเครื่องปรุงอาหารมีราคาสูงขึ้น ในขณะที่สินค้าประเภทอาหารบางรายการมีราคาลดลง คือ ผักสด ข้าวสารเจ้า และไข่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี CPI ล่าสุดติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ในอดีตปี 42 CPI เคยติดลบต่อเนื่องกันถึง 6 เดือน ตั้งแต่ พ.ค-ต.ค.42 อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 41 ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน จึงทำให้ CPI ในปี 42 อยู่ในอัตราที่ติดลบเมื่อเทียบกับในปี 41

ทั้งปี 42 CPI เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.3% ขณะที่ปี 41 CPI เฉลี่ยอยู่ที่ 8.1%

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ตัวเลข CPI จะติดลบต่อเนื่องกัน 2 เดือน แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากการพิจารณาว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดนั้นต้องดูจากตัวเลข CPI ที่จะต้องติดลบต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส

ประกอบกับ ราคาสินค้าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจำนวนที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อหรืออย่างน้อย 200 รายการจะต้องมีราคาปรับลดลงจากจำนวนทั้งหมด 417 รายการ นอกจากนั้นตัวเลข Core CPI ในปัจจุบันที่ไม่รวมสินค้าตามฤดูกาลและน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีการขยายตัวเป็นบวก ดังนั้นจากปัจจัยทั้งหมดนี้จึงยังไม่ถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

"Core CPI ตอนนี้ก็ยังเป็นบวก เพราะฉะนั้นเนื้อแท้ไม่ได้ติดลบ จะดูแค่ตัวเลข CPI เฉยๆ ไม่ได้ เพราะ CPI ได้คิดรวมสินค้าตามฤดูกาลและน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ด้วย...ถ้าจะเกิดเงินฝืด CPI ต้องติดลบอย่างน้อย 2 ไตรมาส ราคาสินค้าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจาก 417 รายการ จะต้องปรับลดลง"นายศิริพล กล่าว

ล่าสุด เดือนก.พ.52 มีสินค้าที่ปรับลดราคาลงทั้งสิ้น 90 รายการ ราคาคงที่ 201 รายการ และราคาเพิ่มขึ้น 126 รายการ จากจำนวนสินค้าทั้งหมดที่นำมาใช้คำนวณเงินเฟ้อ 417 รายการ

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 52 จะอยู่ที่ 0-0.5% ภายใต้สมมติฐานที่ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ