ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ(BBL)ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปี 52 ลดลงเหลือ -2 ถึง 0% จากเดิมคาดไว้ -1 ถึง 1.5% ในช่วงเดือน ม.ค.52
เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึง อินเดีย และจีน ถดถอยอย่างรุนแรงเกินกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกของไทยให้ลดลงจากเดิม โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกจะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -18.4 ถึง -9.8% จากเดิมคาดไว้ -10.4 ถึง -0.8%
สำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 51 อยู่ที่ 3-3.5% ตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออก การลงทุน และการจ้างงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 51
นายพงศ์พัฒน์ คุโรวาท เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Assistant Vice President ฝ่ายวิจัย BBL คาดว่า ดุลการค้าปีนี้จะเกินดุลประมาณ 6.1-7.5 พันล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 7.0-8.4 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากการนำเข้าลดลงมากกว่าที่คาดไว้ เพราะการส่งออกหดตัวอย่างรุนแรง อุปสงค์ของภาคเอกชนในประเทศชะลอตัวลง ประกอบกับ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกชะลอตัวลงด้วย โดยคาดว่าการนำเข้าในปีนี้จะอยู่ที่ -13.2 ถึง -22.5% จากเดิมคาดไว้ -3.1 ถึง -14.1%
การลงทุนของภาคเอกชนจะหดตัวลง -1.6 ถึง -6.5% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออกที่ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์การเงินโลกทำให้เกิดอุปสรรคเรื่องขยายการลงทุน
ส่วนการบริโภคของภาคเอกชนยังขยายตัวในอัตรา 1.2-2.8% ใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากรายได้ที่แท้จริงภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลจากมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้น และการขาดความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคตมีผลให้ภาคครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ -1.5 ถึง 0.5%
ด้านนายปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายวิจัย BBL กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยในปีก่อนถือว่าโชคดีที่อัตราการส่งออกช่วงครึ่งแรกอยู่ในระดับที่สูงมาก ทั้งในแง่ของปริมาณและราคา แต่หากพิจารณาแนวโน้มในปีนี้แล้วคงเป็นเรื่องยากที่จะผลักดันให้การส่งออกขยายตัวเท่ากับปีก่อน เพราะประเทศคู่ค้ากำลังประสบภาวะวิกฤติกันอย่างถ้วนหน้า ซึ่งเป็นปัญหาห่วงโซ่ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
"ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาห่วงโซ่ แต่ไม่ใช่ห่วงโซ่สั้นๆ ถือว่าเป็นห่วงโซ่แบบข้ามพรมแดน ปัญหาไม่ได้เกิดกับประเทศเราเพียงลำพัง แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่...สถานการณ์ทั้งหมดเป็นเรื่องยากที่ประเทศไทยจะควบคุมได้เพียงลำพัง"นายปิยะพันธ์ กล่าว