ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดบาทแตะ 37 บาท/ดอลลาร์เร็ว ๆ นี้จากแรงกดดันดอลลาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 3, 2009 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าค่าเงินบาทมีความเป็นไปได้ที่จะอ่อนค่าไปทดสอบระดับประมาณ 36.50/37.00 บาท/ดอลลาร์ในเร็ว ๆ นี้ ตามความเคลื่อนไหวของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ยังอาจได้รับแรงหนุนต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยในยามที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดัชนีเงินดอลลาร์ เทียบกับเงินสกุลหลัก 6 สกุล ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี (34 เดือน) เหนือระดับ 89.00 ในช่วงต้น มี.ค.52 หรือแข็งค่าขึ้น 9.2% จากสิ้นปี 51

ในทางกลับกัน แนวโน้มการส่งออกที่ทรุดตัวลงตามภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียต้องเผชิญกับแนวโน้มที่เปราะบางตามไปด้วย และในท้ายที่สุด ความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดังกล่าว ย่อมส่งผลย้อนกลับมากดดันสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียให้อ่อนค่าลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาพรวมเงินบาทอ่อนได้ค่าลงแล้วประมาณ 3.5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ จากระดับปิดตลาดสิ้นปี 51 โดยหลังจากที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัดประมาณ 34.70/35.10 บาท/ดอลลาร์ในเดือน ม.ค.52 และเริ่มปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องถึง มี.ค.52 โดยเงินบาทร่วงลงอย่างหนักทะลุระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 36.00 และ 36.20 บาท/ดอลลาร์ฯ ก่อนจะทุบสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปีที่ระดับประมาณ 36.30 บาท/ดอลลาร์ฯ ในช่วงต้น มี.ค.52

ขณะที่ สกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค อ่อนค่าลงในกรอบประมาณ 2.5-9.5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ จากระดับปิดตลาดสิ้นปี 51 โดยในช่วงต้น มี.ค.52 เงินรูเปียห์อินโดนีเซียร่วงลง 9.5% แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 ปี เงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่าลง 7.5% แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 ปี เงินริงกิตมาเลเซียอ่อนค่าลง 6.8% แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 ปี เงินดอลลาร์ไต้หวันอ่อนค่าลง 6.5% แตะจุดอ่อนค่าสุดในรอบ 22 ปี เงินรูปีอินเดียร่วงลง 5.9% และทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเงินเปโซฟิลิปปินส์อ่อนค่าลง 2.6% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน

ส่วนเงินวอนเกาหลีใต้ ยังคงเป็นสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียที่ถูกกดดันมากที่สุดนับจากต้นปี 52 โดยเงินวอนอ่อนค่าลงอย่างหนักถึงประมาณ 18.6% จากระดับปิดตลาดสิ้นปี 51 และดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี(นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 40-41)

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคโดยรวมจะพบว่า การอ่อนค่าของเงินบาทยังเป็นไปตามภูมิภาค ซึ่งด้านหนึ่งก็อาจสะท้อนให้เห็นถึงการรักษาระดับความสามารถทางการแข่งขันของเงินบาท แม้ว่าการเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าของเงินบาทจะยังคงน้อยกว่าสกุลเงินในภูมิภาคบางสกุลก็ตาม

แม้ว่าเงินบาทจะสามารถฟื้นตัวขึ้นจากระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปีที่ระดับประมาณ 36.30 บาท/ดอลลาร์ ช่วงต้น มี.ค.52 ตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า เป็นการเข้ารักษาเสถียรภาพค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการในทิศทางที่สอดคล้องกับธนาคารกลางทั่วภูมิภาคเอเชียที่เข้าดูแลตลาดไม่ให้เคลื่อนไหวผันผวนมากนักหลังจากค่าเงินในภูมิภาคหลายสกุลร่วงลงทุบสถิติอ่อนค่าสุดในรอบหลายปี

ประเด็นที่สำคัญของการอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้นั้น มีความแตกต่างไปจากการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงปี 40 โดยสิ้นเชิง เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย หากแต่เป็นการอ่อนค่าตามกระแสของสกุลเงินในภูมิภาค ในขณะที่สถานะของปัจจัยพื้นฐานของไทยในรอบนี้ มีความแข็งแกร่งกว่าปี 40 มาก โดยฐานะภาคต่างประเทศทั้งดุลการชำระเงินและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีแนวโน้มที่จะเกินดุลในปีนี้ ส่วนภาระหนี้ต่างประเทศของไทยยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับเกิน 1 แสนล้านดอลลาร์ รองรับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การทรุดตัวของมูลค่าการส่งออกของประเทศแถบเอเชียที่รุนแรงเป็นตัวเลขสองหลักช่วงปลายปี 51 ต่อเนื่อง H1/52 จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันแนวโน้มเศรษฐกิจและสกุลเงินของประเทศในแถบเอเชีย เช่นกัน แม้มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย อาจเข้าแทรกแซงตลาดเงินเพื่อชะลอการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของสกุลเงินภายในประเทศ แต่กระแสการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาคในช่วงต้นปี 52 ยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ