(เพิ่มเติม) รัฐบาลจัดระเบียบใหม่การสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำหวังผลเชิงเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 3, 2009 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เสนอ

นโยบายสำรวจและทำเหมืองแร่ทั่วไปในภาพรวม เห็นควรให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาและกำหนดนโยบายและสำรวจการทำเมืองแร่ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ ประเภทแร่ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เขตพื้นที่ทำเหมืองแร่ หน่วยงานรับผิดชอบ และระยะเวลาดำเนินการ

ทั้งนี้ เห็นควรให้มีการศึกษาในเชิงลึกเพิ่มเติม 2 เรื่อง คือความเหมาะสมในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ตลอดจนห่วงโซ่การผลิต หรือขั้นตอนการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ควรสนับสนุนให้มีการลงทุนในประเทศ และความเป็นไปได้ของตลาดที่จะรองรับอุตสาหกรรมต่อยอดการผลิต และความเหมาะสมของอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการทำเหมืองแร่ และรูปแบบการเก็บผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสม ความคุ้มค่าและความเป็นธรรมที่ภาครัฐและชุมชนควรได้รับ และการฟื้นฟูพื้นที่หลังปิดโครงการ

"นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่งทองคำ เห็นว่าแร่ทองคำเป็นแร่เชิงเศรษฐกิจที่ควรนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้...อาจต้องแก้ไขกฎหมาย ประกาศกระทรวง กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญปี 50 เช่น พ.ร.บ.แร่ ปี 2510" นายศุภชัย กล่าว

สำหรับ พื้นที่ที่ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรในการสำรวจแล้ว แต่ยังไม่มีผลทางกฎหมาย เห็นควรให้ชะลอการอนุมัติไว้ก่อน โดยให้รอผลการกำหนดประเภทแร่ กำหนดเขตพื้นที่ทำเหมืองและการปรับนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำใหม่ ส่วนพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษ เพื่อขออนุมัติประทานบัตรทำเหมืองแร่ ให้ถือว่ามีผลผูกพันตามกฎหมายแล้ว ตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2510 ซึ่งอยู่ในอำนาจของ กพร.จะพิจารณาต่อไป

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ตามข้อเสนอของ สศช.ที่ให้ทบทวนวิธีคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนที่เก็บจากการทำเหมืองให้สอดคล้องกับแนวโน้มราคาทองคำนั้น ได้มีการเสนอให้ทบทวนอัตราค่าภาคหลวงใหม่ทุกครั้งที่ราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นผิดปกติ โดยให้พิจารณารวมถึงตัวแปรต่างๆ ให้ครบถ้วน เช่น ความผันแปรตามศักยภาพของเหมืองแต่ละแห่ง และผลกระทบจากการทำเหมือง

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังให้งดการให้อาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรเพิ่มเติม แก่บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภาครัฐไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่คุ้มค่า

สำหรับภาพรวมการสำรวจและทำเหมือนแร่ในปัจจุบันที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ให้สิทธิในการสำรวจโดยให้อาชญาบัตรพิเศษ แก่เอกชน 4 ราย คือ บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด, บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด, บริษัท ไทยโกลบอลเวนเจอร์ จำกัด และ บริษัท อมันตา จำกัด รวมทั้งหมด 61 แปลง พื้นที่ 5.34 แสนไร่

ปัจจุบันบริษัทที่ได้รับสิทธิทำเหมืองแร่ทองคำซึ่งประทานบัตรยังไม่หมดอายุ และดำเนินการอยู่มี 2 ราย ได้แก่ บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ได้รับสิทธิทำเหมือนแร่ทองคำใน จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 5 แปลง พื้นที่ 1,258 ไร่ และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับสิทธิทำเหมืองแร่ทองคำ ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 6 แปลง พื้นที่ 1,288 ไร่

สำหรับการเก็บค่าภาคหลวงใช้หลักเกณฑ์ในอัตรา 2.5% ทำให้ตั้งแต่ปี 44-50 เฉพาะบริษัท อัคราฯ ได้จ่ายค่าภาคหลวงให้รัฐเพียง 383 ล้านบาท จากแร่ทองคำและแร่เงินที่ผลิตได้มูลค่า 1.26 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในเดือน ต.ค.50 เป็นการจัดเก็บแบบอัตราก้าวหน้าตามระดับราคาทองคำตั้งแต่ 2.5% (ราคาทองคำต่อกรัมไม่เกิน 400 บาท) ไปจนถึง 20% (ราคาทองคำต่อกรัม 1,501 บาทขึ้นไป)



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ