เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านงบประมาณแห่งวุฒิสภาสหรัฐว่า เขารู้สึกไม่พอใจรัฐบาลที่นำงบประมาณของชาติเข้าอุ้มกิจการบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดรัฐบาลนำเงินไปอัดฉีดถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมกับเตือนว่าการที่เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการรักษาเสถียรภาพในตลาดการเงินและตลาดอื่นๆที่สำคัญ
"ผมขอเรียนตามตรงว่า ผมกังวลและรู้สึกโกรธที่รัฐบาลนำเงินงบประมาณไปอุ้ม AIG ครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งที่แย่ก็คือรัฐบาลจำเป็นต้องปกป้องระบบการเงินและหยุดยั้งไม่ให้ภาคการเงินพังทั้งระบบ เพราะการปล่อยให้สถาบันการเงินรายใหญ่ล้มในช่วงที่วิกฤตการณ์การเงินยังรุนแรงเช่นนี้ จะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ" เบอร์นันเก้กล่าวต่อวุฒิสภาสหรัฐ
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐตัดสินใจอัดฉีดเงินช่วยเหลือ AIG ครั้งใหม่มูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์หลังจากเอไอจีขาดทุน 6.17 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งเป็นตัวเลขขาดทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้สมาชิกบางคนของพรรครีพับลิกันและเดโมแครตแสดงความไม่มั่นใจว่าการให้ความช่วยเหลือ AIG จะสามารถปกป้องระบบการเงินได้จริง และกังวลว่ารัฐบาลอาจจะนำเงินภาษีของราษฎรไปช่วยเหลือบริษัทเอกชนอีก จึงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องและโปร่งใส
ทั้งนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า "ทางที่ดีคือรัฐบาลจะต้องไม่ 'บุ่มบ่าม' แก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือใช้ทางเลือกแบบ 'เหวี่ยงแห' แต่ต้องคำนึงถึงผลที่ตามมาในระยะยาวว่าจะทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะชะงักงันหรือไม่ และการเลือกอุ้มกิจการ AIG ครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้ผมรู้สึกโกรธมาก สถานการณ์ของ AIG ทำให้เกิดช่องว่างด้านในระบบการกำกับดูแล เพราะ AIG ไม่ใช่ตัวแทนของระบบการเงินทั้งระบบ การอุ้ม AIG เป็นการดำเนินการที่ขาดความรับผิดชอบและทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล"
"ไม่ยุติธรรมเลยที่ปลายทางของเงินภาษีราษฎรจะพุ่งไปที่การพยุงกิจการบริษัทขนาดใหญ่ เราควรจะเข้าไปแก้ปัญหาที่ระบบการเงินอย่างตรงจุด ถ้าเราไม่ทำ ก็อย่าหวังว่าจะได้เห็นเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อีก การขาดทุนของ AIG เป็นผลพวงของวิกฤตการณ์การเงิน ซึ่งเฟดและกระทรวงการคลังได้ใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งมันต้องอาศัยเวลาจึงจะเห็นผล และมันจะเห็นผลแน่นอน แต่ไม่ใช่แก้ไขด้วยการนำเงินภาษีราษฎรไปอุ้มแบบนี้" เบอร์นันเก้กล่าว
เมื่อวุฒิสภาถามความคิดเห็นเรื่องมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.87 แสนล้านดอลลาร์ที่โอบามาเพิ่งลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อเร็วๆนี้นั้น เบอร์นันเก้ตอบว่า "ผลที่เกิดขึ้นและระยะเวลาที่มาตรการดังกล่าวจะเห็นผลนั้น คาดเดาได้ยาก เพราะเรากำลังเผชิญสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ปกติ เศรษฐกิจของเราถดถอยเข้าปีที่สองแล้ว ขณะที่ภาคเอกชนเลย์ออฟพนักงานแบบรายวัน และภาคการผลิตก็ปรับตัวลดลงอย่างมาก"
"การที่เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลล้วนๆ และปัญหาในภาคการธนาคารจะได้รับการเยียวยาอย่างถูกจุดหรือไม่ คงต้องดูจากผลการทดสอบความสามารถในการรักษาฐานะทางการเงิน (stress test) ของ 19 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ภายในประเทศ รวมถึง ซิตี้กรุ๊ป, อเมริกัน เอ็กซ์เพรส และโกลด์แมน แซคส์ เพื่อประเมินว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีเงินทุนเพียงพอที่จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่" เบอร์นันเก้กล่าว สำนักข่าวเอพีรายงาน