บรรดาบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นปรับลดค่าใช้จ่ายลงมากที่สุดในรอบ 10 ปีช่วงไตรมาส 4 ปี 2551 จากผลกระทบของยอดส่งออกที่ตกต่ำ และรายได้ที่หดตัวของบริษัทหลายแห่งไม่เว้นแม้แต่ในบริษัทใหญ่ๆอย่างโตโยต้า มอเตอร์
กระทรวงคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การใช้จ่ายเงินทุนซึ่งไม่รวมภาคอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ปรับตัวลดลง 18.1% ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 จากปีก่อนหน้านี้ ซึ่งทำสถิติลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ขณะที่ตัวเลขผลกำไรบริษัทเอกชนดิ่งลง 64.1%
โดยโตโยต้า บริษัทรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นคาดว่า บริษัทจะประสบภาวะขาดทุนครั้งแรกในรอบ 59 ปี ขณะที่ชาร์ป ผู้ผลิตจอภาพ LCD รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นจะประกาศตัวเลขขาดทุนครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปี พร้อมทั้งปลดลูกจ้างชั่วคราว 1,500 ตำแหน่ง จากผลกระทบของยอดขายที่ตกต่ำ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการทบทวนตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่บื้องต้นหดตัวลง 12.7% ต่อปี ซึ่งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2517 ส่วนยอดส่งออกและการผลิตที่ดิ่งลงเป็นประวัติการณ์ในเดือนม.ค.บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังไม่มีวี่แววว่าจะกระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
"ขณะนี้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิต" เคียวเฮ โมริตะ นักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ส แคปิตอลในโตเกียวกล่าว โดยมองว่า บริษัทต่างๆจะยังไม่เริ่มเดินเครื่องเร่งการใช้จ่ายจนกว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐและจีนจะเริ่มส่งผลให้อุปสงค์กระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาส 4
ทั้งนี้ ยอดส่งออกในเดือนที่แล้วดิ่งลง 45.7% ขณะที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยอมรับเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้จนกว่าจะถึงปีหน้า
ด้านนายมาซาอากิ ชิรากาว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า เศรษฐกิจจะยิ่งเลวร้ายกว่าที่ธนาคารคาดการณ์ไว้ และการที่ธนาคารใช้นโยบายซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนรวมถึงตราสารเชิงพาณิชย์เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.1% เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถกระตุ้นสถานการณ์ในตลาดสินเชื่อได้อย่างเต็มที่